หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ไซอิ๋ว ตอนกำเนิดราชาวานร เต็มเรื่อง

ไซอิ๋ว ตอนกำเนิดราชาวานร เต็มเรื่อง



ไซอิ๋ว 2 ตอน ศึกราชาวานรพิชิตมาร


ไซอิ๋ว 2013 คนเล็กอิทธิฤทธิ์หญ่าย



ไชอิ๋ว 2014 ตอนกำเนิดเทพวานรสวรรค์ 



3 ไซอิ๋ว 2016 เดี๋ยวคน HD เดี๋ยวลิง



ไซอิ๋ว (ปี 1986) ep.3 เห้งเจียบุกสวรรค์





วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

(ตอนที่ ๑) ไขความปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว

เดินทางไกลกับไซอิ๋ว

เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว

โดย : เขมานันทะ
จัดพิมพ์โดย : กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม

จขบ.กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ค่ะ...
เพิ่งจะเริ่มเตาะแตะไปไม่กี่หน้า แต่ก็อยากจะเล่าเสียแล้ว

หนังสือเล่มนี้ได้รับเป็นธรรมะบรรณาการมาจากมือท่านผู้ประพันธ์เองเมื่อหลายปีมาแล้ว
แต่ความหนาของหนังสือก็ทำให้ผัดผ่อนอยู่เรื่อยไป...

มาในช่วงนี้ มลภาวะทางอารมณ์ก่อเกิด จำต้องหาอะไรมาขจัดปัดเป่า จึงหยิบหนังสือเล่มนี้ลงมาปัดฝุ่น
แล้วค่อย ๆ และเล็ม...ทีละหน้า ทีละหน้า อย่างตั้งใจ

นับตั้งแต่ "คำนิยม" ไปเลยทีเดียว...
มา"เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" ไปพร้อม ๆ กับดิฉันนะคะ






คำนิยมโดย ล.เสถียรสุต

ไซอิ๋ว เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่ามากเรื่องหนึ่งของจีน จัดเป็นงานชั้นเด่นหนึ่งในเจ็ดเรื่อง เช่นเดียวกับ สามก๊ก และ ซองกั๋ง 
เรื่องสามก๊กนั้นแปลเป็นไทยได้ไพเราะชวนอ่าน แต่ซ้องกั๋งและไซอิ๋ว ซึ่งฉบับจีน ภาษาดีมาก 
น่าเสียดายว่าแปลเป็นไทย แล้วไม่อาจรักษาความดีของต้นฉบับไว้เพียงพอ 
ทำให้เรื่องไซอิ๋วนี้กลายเป็นเรื่องอ่านเล่น ไม่เป็นที่สนใจเท่าที่ควร

ในเชิงวรรณกรรมนั้น ผู้รจนาจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าพบว่าไซอิ๋ว มีคุณค่าในทางภาษา เพราะได้เก็บรวบรวม คำพูดที่เป็นคำคมของสามัญชนที่พูดกันในปักกิ่ง อันเป็นภาษาพูดที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะคำพูดของเห้งเจีย ซึ่งมักเอ่ยคำพูดอันคมคายขึ้นมาประกอบด้วยเสมอ 
ซึ่งหากสุขภาพอำนวยให้ทำได้ ข้าพเจ้าก็เคยตั้งใจจะคัดคำแหลมคมเหล่านี้ออกมา เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอยู่เหมือนกัน 

ในด้านการแต่งนั้น ท่านผู้รจนาก็สามารถสร้างและสื่อแสดงบุคลิกลักษณะเด่นของตัวละครเอก คือ เห้งเจีย โป๊ยก่าย และ ซัวเจ๋งซึ่งแตกต่างกันออกมาได้ดี 

กล่าวคือ เห้งเจียมีลักษณะขี้โมโห และมีความเฉลียวฉลาด 
หมูตือโป๊ยก่ายมีความโลภ และมักมากในการกิน 
ซัวเจ๋งมีความโง่ซื่อเป็นเจ้าเรือน 

แม้ชื่อก็ตั้งได้ตรงกับบุคลิกของตัวละคร 
อย่างเช่นเห้งเจียนี้ แปลว่า นักปฏิบัติ คือถ้าโกรธมากก็ต้องปฏิบัติให้มาก เพื่อควบคุมความโกรธ 
โป๊ยก่ายมีความโลภต้องเอาศีลแปดมาควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสไว้ 
ส่วนซัวเจ๋งนี้โง่ก็ต้องเอาปัญญาเข้ามานำทาง

รวมศีล สมาธิ ปัญญา ของทั้งสามนี้เข้าก็เป็นทางไปสู่ความหลุดพ้นได้
ส่วนพวกปิศาจก็เป็นบุคลิกลักษณะจิตใจชนิดต่างๆ ของคนเช่นกัน 

การตีความปริศนาธรรมใน ไซอิ๋ว เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะมีเค้าให้ทำได้อยู่เหมือนกัน แต่การตีความให้ได้ความหมายทุกจุด ตลอดทั้งเรื่องอาจจะเป็นสิ่งสุดวิสัย เชื่อว่าท่านผู้เขียนคงมีหลักในการแต่ง คือเป็นเรื่องของการจัดการกับความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมมากเข้า กิเลสเหล่านี้ก็จะจางคลายหายไป กลายเป็นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่อย่างไรก็ดี คนที่อ่านไซอิ๋วโดยมาก มุ่งเอาความเพลิดเพลินสนุกสนานและเอาประโยชน์ทางภาษาบ้าง 
ไม่ค่อยมีใครอ่านอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่เอาของใหม่ไปปนไว้ในของเก่า 
คนอ่านโดยมากเป็นคนรุ่นเก่า เดี๋ยวนี้ก็คงหาคนอ่านยาก 
เพราะการเดินทาง ไปเจอปิศาจแล้วๆ เล่าๆ บางทีก็รู้สึกซ้ำๆ ซากๆ 
คนที่ไม่มองเห็นความลึกซึ้งเป็นปริศนาธรรม ก็อาจจะเบื่อ 

ในการอ่านหนังสือชุดใหญ่ๆ เช่นนี้ ที่จริงตามตำราท่านให้อ่านโดยตลอดเที่ยวหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเลือกอ่านเฉพาะตอนที่ดีอย่างพินิจพิเคราะห์ 
มันอาจจะไม่ดีวิเศษหมดทั้งเล่ม 
แต่บางตอนก็อาจมีการเจรจาคมคาย และมีการบรรยายดีมาก 
เป็นประโยชน์แก่การศึกษาในทางภาษามาก 
บางตอนก็อ่านสนุก โดยเฉพาะตอนต้นของไซอิ๋ว 
เมื่อพระถังซัมจั๋งพบกับเห้งเจีย โป๊ยก่าย และ ซัวเจ๋งนี้เขียนได้สมจริงดี 
อย่างเช่นตอนออกเดินทาง พระถังซัมจั๋งไม่มีน้ำ 
เห้งเจียก็อาสาไปขอน้ำให้ ต้องไปขอกับพวกเซียนในลัทธิเต๋า 
เห้งเจียบอกว่าไม่เป็นไร ตนจะพูดจนให้พวกนั้นยกบ่อน้ำให้ตนใช้ไปตลอดทางจนถึงอินเดียเลยทีเดียว แต่พอเข้าไปขอจริงๆ ก็ถูกพวกนั้นเอาดาบไล่ออกมา เพราะเขาเห็นว่า แต่งตัวเป็นพระทางพุทธศาสนา

นี้ก็น่าหัวเราะ ที่เห้งเจียทำไม่สำเร็จอย่างที่คุยโม้ไว้ 
อย่างโป๊ยก่ายนั้นก็เอาแต่จะกินท่าเดียว เห็นบุคลิกเล็กๆ น้อยๆ ได้ชัดเจนดี 

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ ไซอิ๋ว คือ สามารถเอาเรื่องที่มีเค้าความจริง แต่ไม่ค่อยมีใครคิดและมองมาเขียนได้เป็นเรื่องเป็นราว
อย่างเรื่องเดินทางไปอินเดียนั้น ที่จริงผู้แต่งเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์ดี และไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องนี้ให้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ มุ่งเขียนให้อ่านเพลิดเพลิน และก็เขียนได้ดีจริงๆ อุดมการณ์ และจินตนาการที่ท่านคิดขึ้นมานั้นก็นำเสนอได้ดี อย่างเช่นในเรื่องภูเขาที่มีไฟใหม้อยู่ตลอดเวลา ภูเขานี้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ที่แถบภูเขาอัลไตตาด ทางตะวันตกจนสุดเขตของจีน เป็นภูเขาที่ร้อนจัดเดินผ่านเกือบไม่ได้ 

เรื่อง ไซอิ๋ว นี้คงได้รับอิทธิพลจากรามายณะของอินเดีย 
เวลานั้นจีนได้รับพุทธศาสนาแล้ว และมีวรรณคดีต่างๆ เช่น ชาดก หรือ อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้จีนมีความคิดในทางเอาอภินิหารมาใช้ด้วย เรื่องแปลงกายเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เห้งเจียแปลงเป็นแมลงวันนั้น จีนคงได้รับมาจากทางอินเดียแน่นอน เพราะจีนไม่เคยมีความคิดอย่างนี้ แต่อินเดียเก่งมาก 
การรับอิทธิพลนี้เข้ามา ก็นับว่าเป็นประโยชน์คือทำให้วรรณคดีมีสีสันหลากหลายขึ้น การมีจินตนาการแทรกทำให้อ่านสนุก และต้องชมว่าผู้แต่งก็แทรกได้ดีมากด้วย น่าคิดน่าวิจารณ์ 

ในทางธรรมะ บางตอนก็มีประโยชน์มาก อย่างเช่นการเดินทางไปถึงไซที(อินเดีย) แล้วได้พระไตรปิฎกเปล่า ไม่มีตัวหนังสืออยู่เลย
นี้ก็หมายความว่าพระสัทธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช้คำพูด ต้องมาจากการปฏิบัติและเข้าถึงจิตใจจริง ๆ แต่ว่าคนยังต้องการคำพูดที่เข้าใจได้ ดังนั้น พระถังซำจั๋งจึงต้องขอเอาฉบับที่มีตัวหนังสือกลับไปเมืองจีน

ในประวัติศาสตร์นั้น พระถังซัมจั๋งนั้นได้แปลคัมภีร์มากมาย 
เพราะภาษาอินเดียท่านก็รู้ดี ภาษาจีนท่านก็รู้ดี จึงอ่านเองแปลเอง ได้ 
แต่ก่อนหน้านี้มีการแปลเหมือนกัน แต่ต้องผ่านล่าม ๓ - ๔ คน ฉบับที่ท่านแปลจึงถือได้ว่าเป็นฉบับแปลใหม่ แต่ก็อ่านยาก บางทีอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะท่านใช้ไวยากรณ์สันสกฤต ไม่ใช้ไวยากรณ์จีน

เคยมีเรื่องปรากฎว่า มีประโยคหนึ่งมีอักษร ๗ ตัวเท่านั้น 
แต่ท่านพิจารณาตั้งหลายปีกว่าจะลงเอยว่าจะแปลอย่างไรดี 
เรียกว่าเป็นผู้ทำงานละเอียดมาก ยากจะหาคนเปรียบได้ 

มีเกร็ดที่ลูกศิษย์เขียนเล่าไว้ในประวัติของท่านว่า พระถังซัมจั๋งเคยบวชมาแล้ว ๗ ชาติ มีสมณสารูปดีมาก เวลานั่งก็นั่งตัวตรง ไม่เอียง ไม่พิงอะไร 
แล้วที่แปลกที่สุดคือ ไม่มีใครเคยเห็นท่านหาวเลย อยู่ดึกเท่าไรก็ไม่หาว สมาธิดีมาก เมื่อยามท่านตาย เขาเล่าว่าท่านหกล้มและท่านมีโรคคล้ายรูมาติสซั่ม จากการตรากตรำเมื่อไปอินเดีย โรคก็ลุกลาม ท่านตายตั้งแต่อายุไม่มาก นัก สัก ๕๙ -๖๐ ปีเท่านั้นเอง
แต่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและทำงานทางคัมภีร์ไว้มาก 
ระหว่างผจญภัยไปอินเดียก็อดๆ อยากๆ ลำบากมาก ประวัติของท่านนับว่าน่าศีกษา แม้บางตอนจะดูมหัศจรรย์เกินไปสักหน่อยก็ตาม 

รวมความว่าหนังสือ ไซอิ๋ว รวมทั้งเรื่อง พระถังซัมจั๋ง นี้เป็นหนังสือดี ที่จะชักจูงให้คนสนใจในพุทธศาสนาได้ ท่านผู้รจนาไซอิ๋ว ต้องเป็นผู้มีความรู้ทางพุทธศาสนาดีมาก และยังมีฝีมือในทางวรรณศิลป์ด้วย ท่านไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นตำราประวัติศาสตร ์หากเจตนาจะให้อ่านสนุกและมีความหมายในทางธรรมะบ้าง นับเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าน่าอ่านเรื่องหนึ่ง ซึ่งทั้งปัญญาชน และ ปัญญาอ่อนสามารถอ่านได้ แต่ใครจะได้รับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับวินิจฉัย เจตนาในการอ่าน และภูมิปัญญาของผู้อ่านนั้นเป็นสำคัญ 
ใครอ่านอย่างไร ก็ย่อมได้อย่างนั้น

ล.เสถียรสุต




คำนิยมโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

อ่านไซอิ๋ว

ได้เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
ลิ่วลิ่วล่องไปในแดนจิต
มากมีมายาสารพิษ
มากฤทธิ์ร้อยพันสารภัย

บางครั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
นานาความอยากมักได้
คอยตั้งแต่จะเอาเข้าไป
เท่าไรเท่าไรไม่เคยพอ

บางครั้งรั้นโลดโดดดุ
ราวไฟปะทุติดต่อ
ทำลายไม่ยั้งไม่รั้งรอ
เก่งกาจจริงหนอนะใจเรา

บางครั้งงมเงื่องเซื่องซึมเซ่อ
ละเมอเพ้อบ้าพาขลาดเขลา
มืดมนหม่นมัวมั่วมึนเมา
จับเจ่าจ่อมจมจนจำเจ

ถอยหลังนั่งยามตามดูจิต
เห็นฤทธิ์เห็นรอยกำหราบเล่ห์
เห็นภูมิปัญญามาถ่ายเท
เสน่ห์ผู้รู้ผู้ตีความ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พฤ. ๒ พ.ย. ๒๕๓๒


หมายเหตุจขบ.

หนังสือเล่มนี้ที่มีอยู่ในมือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ จัดพิมพ์โดยกองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม ยังใช้ชื่อเดิมของหนังสือคือ "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว :วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว" หากในการพิมพ์ครั้งที่สามและครั้งหลัง ๆ ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น"ลิงจอมโจก" เพื่อเน้นเนื้อหาทางปัญญาให้มากขึ้น แต่จขบ.ชอบชื่อเดิมมากกว่า จึงชอยึดตามชื่อเดิมของหนังสือเล่มที่ตัวเองอ่านอยู่

อนึ่ง นี่ไม่ใช่การรีวิวหนังสือ หากแต่เป็นการ "บอกต่อ" โดยจะพยายามเก็บเกี่ยวเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้มาถ่ายทอด (ถ้าเป็นไปได้) ตั้งแต่ต้นจนจบ จะของดเว้นการวิเคราะห์วิจารณ์ใด ๆ นอกเหนือไปจากที่ท่านผู้ประพันธ์ได้ "ไขความ" ไว้ค่ะ

ถ้าท่านเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้น่าสนใจ ก็ขอเชิญติดตาม...เดินทางไปพร้อม ๆ กับจขบ.ได้ค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

นัยยะ พุทธธรรม จาก "ไซอิ๋ว"

(รูปจาก วิกิพีเดีย)

นัยยะ พุทธธรรม จาก "ไซอิ๋ว" (แทบจะก้มกราบคนแต่ง ไซอิ๋ว)


  •  ผมเคยได้ทราบว่า ฝั่งตะวันตก มีวรรณกรรมเด็กอย่าง Narnia ที่อธิบาย "ไบเบิ้ล" ออกมาเป็นนิทานอย่างแยบยล (หนังสือ 7 เล่ม ก็แทน บาป 7 ประการ)   ก็แอบคิดมาตลอดว่า
  • "ทางพุทธ"  น่าจะมีใครนำ "พระไตรปิฎก" มาเขียนเป็นนิทานบ้างนะ 

  • หรืออย่างน้อยๆ  แค่หยิบหลักธรรม บางส่วนมาใช้นิยามก็ยังดี     หารู้ไม่... มันมีมาเป็น 400 ปีแล้ว จากวรรณกรรม ที่คนไทยเองก็คุ้นกันดีอย่าง “ไซอิ๋ว” ซึ่งจริงๆก่อนหน้านี้  ผมอาจพอทราบเลาๆมาบ้างว่า  
  • ในนิทานนี้ มีเพียง “พระถังซัมจั๋ง”  เท่านั้นที่เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จริง   ส่วนตัวละครอื่นๆ ถูกสร้างขึ้นมาเป็นนัยยะเท่านั้น   
    • หงอคง(เห้งเจีย) คือ โทสะ  
    • ตือโป้ยก่าย   คือโลภะ 
    • และ ซัวเจ๋ง  คือ โมหะ (ความไม่รู้)     
  • แต่ก็คิดว่าเป็นเพียง conceptคร่าวๆเท่านั้น  ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากมาย  จนกระทั่ง...

  • เมื่อผมได้อ่านบทความ “ไซอิ๋ว” นี้  (จากบุคคลนิรนามในโลกcyber)  โดยผมได้ไปสัมผัสกับย่อหน้าหนึ่งเข้า “ผมทึ่ง” เพราะเขาพูดถึง ฤทธิ์เดชของ  “หงอคง” ที่สามารถจะเหาะไปไหนก็ได้ตามใจคิด เหมือนกับ “ใจ” ของคนเรา   
  • ที่ผมเองเพิ่งได้ฟังมาเมื่อวานจากคุณพ่อของเพื่อนคนหนึ่งที่พูดถึงการเปรียบ “จิต” เป็นลิงแล้วให้สังเกต พฤติกรรมของมัน ไม่ต้องไปวิ่งตามมันให้เหนื่อย

  • ผมซาบซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้อ่านบทความนี้ต่อไป  “นัยยะ” ทุกอย่างในเรื่อง “ไซอิ๋ว” ไม่ใช่แค่ concept เท่ห์ๆ ลอยๆ ไกลตัวไปอิงทางเทพเจ้าฝั่งมหายาน อย่างที่เคยคิดว่า “ควรมี”   หรือ  “ อยากให้มี”

  • มันลึกซึ้งกว่านั้นมาก ทั้งเรื่องของ ขันธ์5 (ฝ่ามือพุทธองค์) ที่หงอคงที่มีฤทธิ์มากขนาดไหนก็เอาชนะไม่ได้
  • นัยยะของ “เมตตา”  (เจ้าแม่กวนอิม)
  • หรือความหลงผิดชั้นสูงอย่าง  “พระยูไลตัวปลอม” ทึ่งครับ....

  • อย่างไรเสีย  ผมคงอธิบายได้ไม่ดีเท่าเจ้าของบทความแน่   ก็เชิญอ่านกันเลยครับ   (ขอขอบคุณบุคคลนิรนามเจ้าขงบทความนี้)  
  • เมื่อกล่าวถึง ภาพยนต์เรื่อง ไซอิ๋ว  คิดว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จักและคงเคยชมภาพยนต์เรื่องนี้มาแล้วทั้งสิ้น หลายคนติดตามชมด้วยความสนุกสนานน่าติดตาม 
  • หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องจริง หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องที่เกินจริง และเพื่อทำให้เราได้รับทราบข้อมูลที่(คิดว่าน่าจะ)เป็นจริงจากการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่างจึงขอนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับไซอิ๋วดังต่อไปนี้

ความหมายสัญลักษณ์ในไซอิ๋ว มีดังนี้

  • พระถังซัมจั๋ง คือ ศรัทธา คำว่า ซัมจั๋ง คือ ศรัทธา 3 (ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) จะไปเชิญพระไตรปิฎก ก็คือ จะไปถึงนิพพานนั่นเอง  
  • ศรัทธานั้นคือความ เรียบร้อย แจ่มใส มุ่งมั่น แต่อ่อนแอ ไม่มีฤทธิ์สู้ปีศาจ จึงเป็นที่ต้องการของหมู่มารที่จะจับกินเสีย 
  • ปัญญาซึ่งมีฤทธิ์มาก จำต้องอาศัยศรัทธา เพื่อเริ่มการปฏิบัติสู่ "มรรคผล"   (คือไปหาพระไตรปิฎกที่ชมพูทวีป)

  • เห้งเจีย คือลิงเปรียบเสมือนใจของคนเรา คือสามารถคิดไปไกลได้หลายหมื่นโยชน์ในพริบตาเดียว เมื่อครั้งยังหลงผิดก็อาละวาดทั่วไปทั้งสวรรค์ และมนุษย์  
  • คิดไปไกลขนาดไหนก็สามารถตีลังกาไปได้แต่ก็ไม่พ้น ขันธ์ 5 (ในนิยายไม่พ้นมือ 5 นิ้วของพระพุทธองค์) 
  • ครั้นเริ่มสนใจศึกษาธรรมะ ก็ต้องใช้ "สติ" คือมงคลครอบหัวไว้เตือนใจเวลาจะทำผิด  กระบองของเห้งเจีย เปรียบเหมือน ปัญญาเมื่อไม่มีธรรมะ ก็ใช้ในทางผิด เที่ยวรังแกชาวบ้าน เพิ่มพูนกิเลสให้กับตน  
  • เมื่อพบพระถังซำจั๋ง(ธรรมะ) ก็มีสติ(มงคล) และมีเป้าหมายคือไปเอา พระไตรปิฎก(นิพพาน) จึงใช้กระบอง(ปัญญา) ต่อสู้กับ ปีศาจ(กิเลส) ต่างๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของตนปัญญา

  • หงอคง แปลว่า ว่างเปล่า ลิงตัวนี้ ก็คือ ปัญญา ทำไมจึงเปรียบปัญญาว่าเป็นลิง ก็เพราะไม่ยอมหยุดนิ่ง เที่ยวได้รู้ทั่ว ซุกซนไปทุกที่ 
  • ตอนแรก ปัญญาก็ว่างเปล่า ค่อยๆเรียนรู้วิชาต่างๆแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ วิชาที่เรียน ก็เป็นวิชาทางธรรมะ ที่แปลงกายได้ 72 ก็คือ ปัญญา 72 ซึ่งมีฤทธิ์มาก สามารถทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ต้องปวดหัว

  • แม้มีฤทธิ์อำนาจแล้ว แต่ยังไม่บรรลุธรรม จึงถูกพระยูไลเสกภูเขา๕ ยอดติดกันทับไว้ภายในและให้หงอคงกินน้ำเหล็กหลอมละลายทุกครั้งที่หิว 
  • เปรียบดังความพยายามของโพธิจิต ที่ไปสู่มรรคผลแห่งพุทธภาวะ ความไม่รู้ในขันธ์ ๕ ย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะบรรลุได้ เปรียบว่าหนักเหมือนดั่งภูเขาทับไว้

  • และหากยึดมั่นว่าตัวกู ของกูคราใด ก็เป็นทุกข์ดุจดังกินน้ำเหล็กหลอมละลายยามหิวฉันนั้น) เพื่อรอพระถังซำจั๋ง(ศรัทธา + ขันติ) มาช่วยและบวชให้ 
  • โดยการสรวมมงคลสามห่วง (ไตรลักษณ์ – อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ได้ชื่อใหม่ว่า เห้งเจีย (กำราบผี ก็คือ กำราบอวิชชา) เพื่อให้ร่วมเดินทางไปไซที (นิพพาน) ในฐานะศิษย์ของพระถังซัมจั๋ง

  • เห้งเจียบอกว่า อาจารย์ไม่ต้องลำบาก ผมตีลังกา 7 ทีก็ถึงชมพูทวีปแล้วพระถังฯบอกว่า ไม่ได้ ต้องไปเองนั่นก็คือ ปัญญานั้นไปถึงนิพพานได้อยู่แล้ว 
  • แต่เป็นเพียง "สุตตมยปัญญา"   รู้นิพพานได้ก็โดยความหมายทางปริยัติ แต่ศรัทธาบอกว่าไม่ได้ ต้องไปเอง 
  • เห้งเจียมีกระบองสมปรารถนาเป็นอาวุธ (ภาษาจีนว่า อยู่อี่) ไม่ใช้ก็หด จะใช้ก็พองโตขยายขึ้น อาวุธนี้จะใช้ได้ก็โดยปัญญา เพราะกระบองนี้ก็คือ สติ นั่นเอง

  • เมื่อเดินทางไม่นานก็ได้ ม้าขาว คือ วิริยะ ตั้งแต่ต้นต้องมีวิริยะ ไปจนตลอดทาง เลยจากวิริยะ ก็ควรเป็นสติ 
  • ตือโป๊ยก่าย   ตือ แปลว่า หมู โป้ย แปลว่า แปด  ก่าย แปลว่า ศีล  ดังนั้นตือโป๊ยก่ายคือ ศีล 8 หมูตัวนี้ไม่ใช่ สติ แต่เป็น ศีล 8  เพราะที่พูดถึงนี้ ไม่ใช่อินทรีย์ 5 หรือ พละ 5 ซึ่งเป็นธรรมะที่ต้องสูงไปกว่า สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน และอิทธิบาท แต่ในที่นี้ ก็คือ ศรัทธา วิริยะ ศีล สมาธิ ปัญญา
  • ที่ว่า ตือโป๊ยก่าย เป็นศีล เพราะว่าหมูเป็นสัตว์ทีมีปากยาว มีไว้สำหรับบริโภคและนินทาผู้อื่น หูยาวในการฟังหาเหตุที่จะทุศีล หมูรวมไว้ซึ่งความตะกละ ละโมบ และโสโครก 
  • ตือโป้ยก่ายมักถูกเห้งเจีย หรือ ปัญญาบังคับให้หุบปาก และหุบหู เพียงเท่านี้ ศีลก็จะมีมา มีคราด ๙ ซี่ (สังฆคุณ ๙) เป็นอาวุธประจำกาย 
  • อีกทั้งแปลงกายได้ ๓๖ อย่าง เมื่อปีศาจหมูตือโป้ยก่ายได้พบพระกวนอิม(เมตตา) ได้สัญญาว่าจะรอพบพระถังซัมจั๋ง โดยได้ชื่อใหม่จากกวนอิมว่า ตือหงอเหนง

  • จากนั้นก็พบซัวเจ๋ง ปีศาจที่อาศัยอยู่ในม่านน้ำ นั่นคือ สมาธิเมื่อสมาธิไม่แจ่มใส ยังเป็นปีศาจจึงไม่ได้ไปแสวงบุญ จึงต้องอยู่แต่ในม่านน้ำ คือ ความพร่ามัว ไม่สงบแจ่มใส  
  • แต่พอพ้นจากม่านน้ำคือ ขึ้นบกก็จะ แจ่มใส  คอยระวังป้องกันใกล้ชิดกับศรัทธาเสมอ 
  • ปัญญา (หงอคง) ที่หลุกหลิกช่างสังเกตสนใจเหมือนลิง และมีอำนาจมากมายเป็นพี่ใหญ่แปลงกายได้ 72 อย่าง  ซัวเจ๋ง คือ สมาธิ มักถูกโป๊ยก่ายกดขี่เพราะมาทีหลัง ต้องเป็นน้องเล็ก ก็คือ สมาธิ จะเกิดได้ต้องได้ศีลดี  และจะใกล้ชิดคอยเฝ้าสัมภาระและพระอาจารย์เสมอ 
  • เพราะสมาธินั้นประคองอยู่เสมอกับศรัทธา หากไม่มีศรัทธา สมาธิเป็นอันวุ่นวายไม่เป็นตัวตนได้  ซัวเจ๋ง มีพลั่ววงเดือนเป็นอาวุธ คือ แสงสว่างเป็นนิมิต   [#โอภาส ?] 

  • กวนอิม คือพระอวโลกิเตศวร ( อว+โลก+อิศวร = พระผู้เป็นใหญ่ซึ่งมองลงมายังสัตว์โลก) เป็นตัวแทนของ "เมตตา" ตลอดเรื่องราวใน”ไซอิ๋ว”

  • บ่อยครั้งที่เห้งเจีย (ปัญญา) ไปขอความช่วยเหลือจากกวนอิม (เมตตา) จึงจะสามารถชนะปีศาจต่าง ๆ (กิเลส ตัณหา) ได้ นั่นหมายถึง เมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง

  • เพราะหากการที่มีปัญญา แต่ขาดความเมตตา ก็มักจะเกิดมิจฉาทิฏฐิได้ง่าย เป็นโมหะ เป็นความหลง ตัวกู ของกู ถือตัวถือตนว่าเก่ง มีความสามารถ โมหะ นี้จะพัฒนาไปจนกระทั่งคิดจะเบียดเบียนผู้อื่นร่ำไป 
  • ดังนั้นเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญา จึงเป็นธรรมชั้นสูง ที่ปุถุชนควรพยายามเข้าใจ และฝึกฝนให้อยู่ในแนวแห่งสัมมาทิฏฐินี้ ก็จะเกิดสันติสุขขึ้น

  • พระโพธิสัตว์กวนอิม (เมตตา) การเดินทางไปนิพพาน เพื่อไปนำพระไตรปิฎกมาถวายพระเจ้าถังไทจง ถึงแม้การเดินทางครั้งนี้จะต้องเผชิญและต่อสู้กับปีศาจต่าง ๆ (กิเลส) 
  • หน้าที่ตกเป็นของเห้งเจีย(ปัญญา) แต่เมื่อถึงคราวอับจน พระถังซัมจั๋งจะโดนปีศาจจับตัว ในหลาย ๆ ครั้งพระโพธิสัตว์กวนอิมก็จะออกมาช่วยเสมอ 
  • โดยให้หงอคง (ปัญญา) ต่อสู้กับกิเลสก่อน จนกว่าหมดแรง และเมื่อถึงเวลาคับขัน พระโพธิสัตว์ก็จะมาแนะวิธี ชี้ให้เห็นเหตุ หากเกินกำลัง ก็ให้เห้งเจียไปเข้าเฝ้าพระยูไล

  • พระยูไลในหมายถึง พระอริยะที่เคยเดินทางสายนฤพานมาก่อน  ได้เคยพบปะกับวิปัสสนาปัญญา และมรรคปัญญา ที่แท้จริงมาแล้วมาชี้ให้ปัญญารู้ว่า ที่มีอยู่ยังไม่ใช่สุดยอด

  • ดังนั้น เรื่องราวไซอิ๋วจึงเป็นเรื่องที่ ลิง หมู เงือก รวม ๓ พี่น้อง แปลงกายได้ ๑๐๘ อย่างหรือ รู้เท่าทันกิเลส ตัณหา ๑๐๘ นั่นเอง
  • ซึ่ง จิตที่มุ่งแสวงหานิพพาน จำเป็นต้องใช้ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว(เอกัคคตาจิต) มุ่งหน้าสู่นิพพาน  
  • และระหว่างทางได้พบกับกิเลส ดังนั้นในบางครั้งก็ใช้ปัญญาเข้าแก้ไข ในบางครั้งก็ใช้ศีลเข้ามาช่วย หรือในบางครั้งก็ใช้สมาธิมาช่วยในวิธีต่าง ๆ กัน อันได้แก่อริยมรรค (มรรค ๘) 
  • ซึ่งพอจะจัดเป็นหมวดหมู่ของมรรค ๘ได้ดังนี้ 
    • กลุ่มปัญญา (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปโป), 
    • กลุ่มศีล (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันโต, สัมมาอาชีโว) 
    • และกลุ่มสมาธิ (สัมมาวายาโม, สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ)

  • ในระหว่างเดินทางในช่วงแรกเป็นเขตโลกียะ เห้งเจีย(ปัญญา) ยังลุกลี้ลุกลนและยังเถื่อนอยู่  ตือโป้ยก่าย(ศีล) ก็ยังเต็มไปด้วยความอยากในการบริโภค มักจะเผลอที่จะทุศีล หรือคอยจะหยุด เพื่อจะได้บริโภคดุจหมู จึงมักไปติดกับของปีศาจอยู่เสมอ 
  • ในระยะต้น ๆ จึงมีเรื่องขัดแย้งและทะเลาะกันกับเห้งเจียตลอดเวลา จนกระทั่งเริ่มเข้าเขตโซจ๋อก (โลกุตระ) 
    • เห้งเจียก็เปลี่ยนเป็นเรียบร้อยขึ้น 
    • ส่วนโป้ยก่ายค่อยระงับความอยากได้และมีปัญญามากขึ้น 
    • ซัวเจ๋ง(สมาธิ)ก็ค่อย ๆ ซึมซับปัญญาจากเห้งเจีย ดังนั้นเมื่อเข้าเขตโซจ๋อก(โลกุตระ) เจ้าสามเกลอเริ่มมีความเป็นหนึ่งเดียว ที่ว่า ศีลอันใดสมาธิอันนั้น สมาธิอันใดปัญญาอันนั้น

  • เมื่อกลับมาพูดถึงการเดินทางในเช้าตรู่ของการเดินทางวันแรก มีหมอกลงจัดสองข้างทาง พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา+ขันติ) วนเวียนหลงทางไปถึงภูเขา ซังขี้ซัว (ทางสองแพร่ง) และเผชิญปีศาจ ๓ ตนคือ ปีศาจเสือ ปีศาจหมี และปีศาจควายดำ 
  • ปีศาจทั้ง ๓ นั้นได้แก่ โลภะโทสะและโมหะ ซึ่งทำให้พระถังซัมจั๋งเกิดความลังเล (ทางสองแพร่ง) ที่จะเดินทางไปสู่พุทธภาวะ 
  • เพราะต้องละทิ้งซึ่ง โลภ โกรธ หลง แต่เมื่อใช้ขันติ ทนต่อการบีบคั้นของกิเลส ไม่ยอมตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ก็สามารถรอดพ้นจากหล่มของความโลภ ความโกรธ ความหลง 
  • ซึ่งในที่สุดพระถังซัมจั๋ง (ศรัทธา + ขันติ) ก็สามารถรอดพ้นและเดินทางต่อไปได้ จึงได้พบเห้งเจียที่ภูเขาห้านิ้วครอบทับไว้

  • เดินทางมาได้ไม่นานก็พบกับโจรทั้งหก เห้งเจียเห็นเข้าก็ตรงเข้าตีจนตาย เพราะรู้ว่าโจรทั้งหกได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ 
  • ซึ่งถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งในการเดินทางไปไซทีในครั้งนี้ ดังนั้นจึงต้องตีให้ตาย เพราะหากจะเดินทางเข้าสู่พุทธภาวะจะต้องกำหนดรู้ในอายตนะทั้งหก

  • จากนั้นการเดินทางก็เผชิญกับปีศาจมากมายหลากหลายรูปแบบ ปีศาจก็จะมีฤทธิ์เดชที่มากขึ้นเรื่อย นั่นก็คือกิเลส ตัณหาที่มีความละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นหากไม่กำหนดจดจ่อเพื่อรู้เท่าทันแล้ว บางครั้งแยกไม่ออกเอาเลยว่าเป็นกิเลสหรือไม่ ก็จะทำให้หลงติดอยู่ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ 
  • จนกระทั่งเมื่อเข้าใกล้เขตโซจ๋อก(โลกุตระ) ปีศาจมีฤทธิ์มากได้แก่เห้งเจียตัวปลอม ตือโป้ยก่ายตัวปลอม ซัวเจ๋งตัวปลอม พระยูไลตัวปลอม 
  • ซึ่งเป็นปีศาจที่มีฤทธิ์เท่าเทียมกันจนยากที่จะเอาชนะได้ ต้องอาศัยเจ้าแม่กวนอิมมาช่วย เพราะว่ากิเลส หรือ ตัณหา นั้นบางครั้งมิสามารถเอาชนะได้ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา 
  • แต่บางครั้งต้องอาศัยความเมตตา (กวนอิม ) จนในที่สุดทั้งเห้งเจีย ตือโป้ยก่าย และซัวเจ๋งก็สามารถเอาชนะตัวปลอมได้ 
  • ณ จุดนี้จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้การเอาชนะปีศาจทำได้ง่ายขึ้นนั่นก็คือ 
    • มิจฉาปัญญา ได้ เปลี่ยนเป็น สัมมาปัญญา, 
    • มิจฉาศีล เปลี่ยนเป็น สัมมาศีล, 
    • มิจฉาสมาธิ เปลี่ยนเป็น สัมมาสมาธิ 
    • และรวมกันเป็นหนึ่งไม่มีความขัดแย้งกัน สามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

  • นอกจากนี้ยังมีปีศาจที่เป็นพระยูไลปลอม เป็นกิเลสที่เรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส เป็น อุปกิเลสที่เกิดขึ้นในระหว่างวิปัสสนานั้น ๆ เป็นความเผลอไปยึดมั่นสำคัญว่าตนได้บรรลุอรหัตตผลแล้ว 
  • ทำให้พระถังซัมจั๋ง(ศรัทธา) เข้าใจว่าบรรลุถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ไม่คิดจะเดินทางต่อ แต่เห้งเจีย(ปัญญา) รู้เท่าทันเพราะว่าเห้งเจียตีลังกาไปไซทีนับครั้งไม่ถ้วน ย่อมรู้ว่าพระยูไล (พุทธภาวะ) นั้นเป็นอย่างไร จึงสามารถปราบปีศาจและหลุดพ้นออกมาได้
  • ในเขตโลกุตระ (โสดาปัตติผล) ก็มีความร่มรื่นทั้งสองข้างทาง แต่แล้วก็ประสบพบมังกร ๙ เศียร(มานะ ๙) ซึ่งมีฤทธิ์ร้ายกาจมาก เห้งเจียสู้ไม่ได้ จำต้องเหาะหนีขึ้นสู่สวรรค์ชั้นพรหม ไปหาท่านอิ๊กกิ๊วเค้าทีจุนผู้เป็นเจ้าของมังกร ๙ เศียร 
  • พรหมทีจุนเหาะลงมายังโลกมนุษย์แล้วจับมังกร ๙ เศียรที่แปลงเป็นปีศาจปู่เจ้าเก๊าเล่งขึ้นสู่พรหมโลก กิเลสตัวนี้นับว่าเป็นกิเลสชั้นพรหมโน่น คือกิเลสของความเป็นอาจารย์ เพื่ออวดตน หวังสอนผู้อื่นจะได้เป็นอาจารย์เพื่อให้มีคนนับถือ มานะทั้ง ๙ได้แก่
                ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่ามึง”
                ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอมึง”
                ตัวดีกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
                ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่ามึง”
                ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอมึง”
                ตัวเสมอเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”
                ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูดีกว่ามึง”
                ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูเสมอมึง”
                ตัวด้อยกว่าเขา แล้วสำคัญมั่นหมายว่า “กูแย่กว่ามึง”


  • มานะทั้ง ๙ เป็นกิเลสชั้นพรหม การละกิเลสลักษณะนี้ได้ต้องตัดขาดจากการเปรียบเทียบ และต้องอาศัย ปัญญา ศีล สมาธิ ร่วมแรงกันทำให้ราคะ โทสะ โมหะ เบาบางลงไม่ยึดเขา ยึดเรา หากทำได้แล้วนับเป็นการย่างเข้าเขตพระอริยะเจ้าในระดับ "สกคาทามี"

  • ในที่สุดก็จะบรรลุถึงลำน้ำลิ้งหุ้นโต้ ซึ่งกระแสน้ำเชี่ยวกราก ขณะนั้นมีคนแจวเรืออยู่ริมน้ำและร้องตะโกนให้พระถังซัมจั๋งลงเรือ เมื่อพระถังซัมจั๋งเห็นเรือที่ไม่มีท้อง ก็บังเกิดความสงสัยว่าจะข้ามไปได้อย่างไร น้ำก็เชี่ยวกรากแต่เรือที่ใช้ข้ามกลับเป็นเรือท้องโหว่ ความจริงแล้วหมายความว่าท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของกิเลสและตัณหานั้น  

  • หากเรามีความสงบนิ่งว่างเปล่าจากความยึดมั่นถือมั่น(สุญญตา) หากสามารถกระทำได้ดั่งนี้ อรหัตผลก็จะบังเกิดขึ้นแล้ว

  • ครั้นเมื่อถึงฝั่งก็พบพระไตรปิฎก แต่เมื่อเปิดออกมาปรากฏว่าไม่พบตัวอักษรใด ๆ เลย พระถังซัมจั๋งถึงกลับถอนใจใหญ่ ก็ได้ยินเสียงของพระยูไลว่า พระไตรปิฎกไม่มีตัวอักษรนั่นแหละถึงจะเป็นฉบับที่แท้จริงและวิเศษสุด 
  • พระถังซัมจั๋งก็เข้าใจในบัดดลว่า ทุกสิ่งเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน ธรรมชาติทั้งมวลย่อมไม่สามารถขีดเขียนออกมาได้หมด ความรู้แจ้งในธรรม (ชาติ) รู้ได้ด้วยตัวเองไม่สามารถถ่ายทอดเป็นตัวอักษรได้ 
  • หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่าเมื่อท่านค้นพบธรรม(ชาติ)ด้วยตัวของท่านเองแล้ว ก็จะพบว่า ธรรม(ชาติ)ทั้งมวลสามารถรวบรวมได้ทั้งหมดในไตรปิฎกฉบับที่ไม่มีตัวอักษรเท่านั้น ทุกสิ่งย่อมเป็นอนิจจัง มีความไม่เที่ยงต้องแปรเปลี่ยนทุกสิ่งย่อมเป็นทุกขัง ไม่สามารถคงทนอยู่ในสภาวะเดิมได้ ทุกสิ่งย่อมเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน


  • เมื่ออ่านถึงถึงตรงนี้แล้วหวังว่าผู้อ่านคงจะสามารถดูภาพยนต์เรื่องไซอิ๋วได้สนุกและมีความเข้าใจมากขึ้น  (จบครับ)
------- ในแง่มุมประวัติศาสตร์----------
  ไซอิ๋ว เป็นนิยายจีนแต่งขึ้นประมาณปี  พ.ศ.2133 ช่วงราชวงศ์หมิง ประพันธ์โดย อู๋เฉิงเอิน หลังเหตุการณ์จริงราว 600 ปี โดยนำเค้าโครง เรื่องการเดิน ทางของหลวงจีน " เสวียนจั้ง "ซึ่งเป็นเรื่องของการเดินทางไปยังชมพูทวีป (อินเดีย) เพื่ออัญเชิญคัมภีร์พระพุทธศาสนาของหลวงจีนชื่อ พระถังซำจั๋ง โดยมีสัตว์ 3 ตัวเป็นเพื่อนร่วมทาง คือ เห้งเจีย (ลิง) ตือโป๊ยก่าย (หมู) และซัวเจ๋ง (ปีศาจปลา) ระหว่างการเดินทางต้องพบกับการขัดขวางของเหล่าปีศาจมากมาย ด้วยเนื้อหาที่เป็นการผจญภัย และมีสัตว์เป็นตัวเอก ทำให้ไซอิ๋วได้รับความนิยมจากหมู่เยาวชนมากที่สุดในวรรณกรรมเอกทั้ง 4 เรื่อง เป็นหนึ่งในสี่สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ สามก๊ก,ความฝันในหอแดง และ ซ้องกั๋ง

                พระถังซำจั๋ง มีตัวตนจริงเมื่อ 1,300 กว่าปีที่แล้ว โดยได้ฉายานามหลังจากออกบวชว่า เสวียนจั้ง พระเสวียนจั้ง ดำรงชีวิตอยู่ใน ช่วงปลายราชวงศ์สุยถึงช่วงต้นราชวงศ์ถัง ท่าน มีนามเดิมว่า เฉินอี  เกิดที่ลั่วโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) ราว พ.ศ.1145
                ด้วยความเฉลียวฉลาด สนใจการศึกษาเรียนรู้ และความใฝ่ในธรรมะ จึงบรรพชาธรรมะที่วัดจิ้งถู่ ในนครลั่วหยาง เมื่ออายุ 13 ปี
                ต่อมาเมื่อราชวงศ์สุยถึงจุดสิ้นสุด บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านจำต้องย้ายสถานที่จำวัดจากนครลั่วหยาง ไปยังฉางอาน (ซีอานปัจจุบัน) แต่ด้วยความวุ่นวายในการแย่งชิงบัลลังก์ในนครหลวงทำให้ไม่เหมาะที่จะจำวัด ท่านและพี่ชายจึงมุ่งลงใต้ย้ายไปยังนครเฉิงตู เมื่อบ้านเมืองสงบแล้ว พระเสวียนจั้งจึงย้ายกลับมาจำวัดที่นครฉางอานอันเป็นเมืองหลวง และศูนย์กลางของศาสนาพุทธในจีนขณะนั้น เพื่อเสาะหาพระอาจารย์ที่มีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรม และฝากตัวเข้าศึกษาด้วย

                ในประเทศจีนขณะนั้น พระพุทธศาสนาได้เดินทางจากประเทศอินเดียผ่านเส้นทางสายไหมอันทุรกันดาร เข้ามาตั้งแต่สมัยฮั่นตะวันออก  เวลาผ่านมาถึงสมัยถังรวม 500 กว่าปีแล้ว การตีความพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็แตกแขนงออกไปเป็นหลากแนวทางหลายสำนัก เมื่อ พระเสวียนจั้งศึกษาพระคัมภีร์จนแตกฉานมากขึ้นก็บังเกิดข้อสงสัยขึ้นมากมาย แต่เมื่อหาคำตอบแล้วกลับพบว่า แต่ละสำนัก ต่างก็ตีความไปคนละทิศละทางดังนั้นท่านจึงตัดสินใจว่า จะต้องเดินทางย้อนไปยังดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกฉบับดั้งเดิมและคัดลอกนำกลับมายังแผ่นดินจีนให้ได้

                การเดินทางออกจาก มหานครฉางอานในช่วงที่สงคราม การเปลี่ยนราชวงศ์เพิ่งสงบ และเกิดการแย่งบัลลังก์กันในราชสำนักนั้นกลับมิใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 1170 อันเป็นปีแรกที่ หลี่ซื่อหมิน  เพิ่งแย่งบัลลังก์มาจากพี่ชายหลี่เจี้ยนเฉิงและขึ้นครองราชย์แทนหลี่ยวนผู้ พ่อได้สำเร็จ  เนื่องจากขณะนั้นบ้านเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ องค์ฮ่องเต้จึงควบคุมการเดินทางเข้าออกนครฉางอานอย่างเข้มงวด เมื่อ พระเสวียนจั้ง ได้ขออนุญาตเดินทางออกจากฉางอานไปยังอินเดีย (เหมือนกับขอพาสปอร์ตในปัจจุบัน) ถึง 3 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ ท่านจึงแอบลักลอบเดินทางออกจากฉางอานโดยผิดกฎหมาย ในพ.ศ.2272 โดยท่านได้เดินทางผ่านเมืองอู้อี้  เกาเชียง  อัคนี  คุจี พาลุกา ซุเย แบะจุ้ย สมารคันต์ ตุขารา กปิศะ บามิยัน ตักกศิลา ชาลันธร จนถึงอินเดียเหนือ ผ่านทะเลทรายโกบี  สุดท้ายสามารถเดินทางมาถึงอินเดียโดยปลอดภัย

                จากนั้นได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาเป็นเวลาถึง ๑๕ ปี นาลันทา เป็นสถานศึกษาฝ่ายมหายาน โดยศึกษาทั้ง ๑๘ นิกาย รวมทั้งพระเวท เหตุวิทยา ศัพทวิทยา จิกิตสาวิทยา สางขยะวิทยา  เมื่อพระเสวียนจั้งกลับสู่ประเทศจีน ได้รับการต้อนรับจากพระสงฆ์และพุทธบริษัทชาวจีนอย่างดี และได้รับการยกโทษที่แอบเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมทั้งได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์ชายทรงพระนามว่า ถังซัมจั๋ง แปลว่าองค์ชายไตรปิฎกธรรม


เกี่ยวกับผู้แต่งวรรณกรรม "ไซอิ๋ว" 
อู๋ เฉิงเอิน (จีนตัวย่อ: 吴承恩; จีนตัวเต็ม: 吳承恩; พินอิน: Wú Chéng'ēn, มีชีวิตราวปี พ.ศ. 2048–2123  หรือ 2043-2125) เป็นนักกวีชาวจีน สมัยราชวงศ์หมิง มีชื่อเสียงจากการประพันธ์นิยายอมตะเรื่อง ไซอิ๋ว
เขาเกิดในครอบครัวพ่อค้า พ่อของเขาชอบอ่านหนังสือและสะสมหนังสือไว้มาก เขามีสติปัญญาดีมากมาแต่เด็ก นอกจากชอบอ่านหนังสือแล้วยังศึกษาเรื่องแปลก มหัศจรรย์ เขาศึกษานิทานชาวบ้านซึ่งมีผลต่อการเขียนเรื่อง ไซอิ๋ว ด้วย อู๋ เฉิงเอิน สอบเข้ารับราชการตามระบบการศึกษาและสอบคัดเลือกของราชวงศ์หมิงหลายหนแต่สอบไม่ได้ แต่ได้คัดเลือกเป็นกรณีพิเศษไปเป็นปลัดอำเภออยู่พักหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ลาออก หันมาเขียนหนังสือ เขามีฝีมือการเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันไม่มาก แต่โด่งดังสุดด้วยเรื่อง "ไซอิ๋ว"อ้างอิงจาก  :   https://th.wikipedia.org/wiki/อู๋_เฉิงเอิน 




และ  

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

(ตอนที่ ๕๓)บทที่ ๕๐ ความสำเร็จ (จบ)

บทที่ ๕๐
ความสำเร็จ (จบ)







นาม : เป็นอันว่าไซอิ๋วก็จบแล้วซีครับท่านอาจารย์

โหงว : อีกหน่อย...คือว่า หลังจากท้าวกิมกังทั้ง ๘ หอบเอาพระถังและสานุศิษย์กลับไปเขาเล่งซัวแล้ว พระยูไลก็แต่งให้พระถังเป็นพุทธะองค์หนึ่ง เห้งเจียจะเป็นพุทธะในวันหน้า โป้ยก่ายนั้นตั้งให้เป็นทูต ทำพิธีประกาศคุณของพระตถาคต ซัวเจ๋งนั้นให้เป็นพระอรหันต์เถรเจ้า ม้าขาวหรือมังกรให้เป็นเศรษฐีผู้คอยอุปการะพระรัตนตรัย

ฝ่ายเห้งเจียขอร้องให้พระถังปลดห่วงมงคลที่เคยใช้บังคับตนออก เพราะบัดนี้ทุกสิ่งก็สำเร็จแล้ว พระถังก็ยิ้มแย้มกล่าวกับเห้งเจียว่า..." แต่ก่อนยังเถื่อนจึงต้องบังคับด้วยห่วงมงคล ครั้นการสำเร็จทุกอย่าง บัดนี้ห่วงมงคลก็หายไปเองแล้ว..."

เห้งเจียหันมาพิจารณา คลำดูก็รู้ว่าจริงก็ร่าเริงยินดี 

เรื่องของอาจารย์และศิษย์มุ่งไซทีก็จบลงเพียงเท่านี้


รูป :ห่วงมงคล ๓ ห่วงคือไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) หรือสุญญตา ในที่สุดแม้ความว่างก็สิ้นไป

นาม : ว่างจากความว่างทุกสิ่งก็เป็นตามที่เป็นจริง

รูป :เมื่อมองเอียงข้างยึดถือความมี ความไม่มีก็ไม่ได้รับพิจารณา ครั้นเอียงข้างยึดความไม่มี ความมีที่มีก็กลับไม่เห็น

นาม : มีกับไม่มีล้วนเกิดแต่ความยึดถือ ตัวความจริงนั้นเป็นกลาง ๆ ที่ว่า ถ้าสิ่งนี้มี สิ่งนี้จะมี ถ้าสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จะไม่มี เป็นความจริงที่อิงกัน

รูป :ท้ายสุด จากทัศนะที่เป็นกลาง ๆ ไม่อิงข้างใดข้างหนึ่ง นำไปสู่สภาพเหนือทัศนะ นั่นคือวิมุติ เหนือเหตุเหนือผล

นาม : จึงว่าว่างจากความว่าง ว่างอันแรกนั้นปฏิเสธความมี เอียงเข้าข้างความไม่มี ว่างจากความว่างนั้น พ้นไปจากความไม่มี

รูป :ทำใจไว้แยบคายเช่นนั้น ไม่ต้องเดินทางไปไกลหลายหมื่นลี้หรอก

นาม : ทำใจไว้เช่นนั้น มันเดินทางของมันเองแต่ต้นจนจบ

รูป :เริ่มเรื่องด้วยโพธิ - ธรรมชาติรู้สุญญตา จบลงด้วยสุญญตา 


(จบ "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว")






* คัดจาก "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" โดย "เขมานันทะ" หน้า ๓๐๒ - ๓๐๔ )

(ตอนที่ ๕๒) บทที่ ๔๙ มลทินของผู้ทรงปิฎก

บทที่ ๔๙
มลทินของผู้ทรงปิฎก
และสิ่งที่หาไม่ได้ในพระไตรปิฎก


ฝ่ายโพธิสัตว์กวนอิม ครั้นบรรดาเทพารักษ์ที่เคยตามคุ้มครองพระถังเข้ารายงานผลงานแล้ว ทรงรับสั่งให้เทพารักษ์รักษาทิศทั้ง ๕ ไปแจ้งให้ท้าวกิมกังทั้ง ๘ ที่กำลังอุ้มพระถังและศิษย์กลับเมืองจีนนั้น ให้บันดาลให้พระถังได้รับเคราะห์ร้ายครั้งสุดท้าย

ท้าวกิมกังรับทราบคำสั่งของกวนอิมแล้ว เมื่อเหาะมาถึงแม่น้ำทงทีฮ้อ ก็ปล่อยวางพระถังและศิษย์ลงยังพื้นดิน เห้งเจียนั้นหยั่งรู้ความที่พระถังต้องประสบภัยแล้ว จึงไม่ยอมอุ้มพระถังเหาะข้ามลำน้ำไป

ขณะที่รีรอกันริมฝั่นนั่นเอง เต่าขาวตัวเดิมก็โผล่ขึ้นมาร้องเชิญทุกคนขึ้นขี่หลัง ศิษย์และอาจารย์ต่างก็ยินดียิ่ง พากันลงยืนบนหลังเต่า เต่าว่ายตัดกระแสน้ำตรงไปยังฟากตรงข้าม 

ครั้นมาถึงกลางลำน้ำ เต่าขาวก็เอ่ยถามพระถังขึ้นว่า ที่ฝากไปถามพระยูไลว่า " เมื่อไหร่หนอเต่านี้จะได้เป็นมนุษย์...?" 

ฝ่ายพระถังนั้น ความที่จดจ่ออยู่แต่เรื่องพระไตรปิฎก จึงลืมคำถามฝากของเต่าเสียสนิท เมื่อถูกทวงถามก็นิ่งอั้นอยู่ 

ฝ่ายเต่าขาวเห็นเช่นนั้น ก็รู้ว่าพระถังไม่เอื้อเฟื้อ จึงดำวูบลงในแม่น้ำ ทั้งอาจารย์และศิษย์ก็หลุดจากหลังเต่า แต่ก็หาจมน้ำไม่ เพราะกายเบาผิดคนสามัญ ฝ่ายเห้งเจียก็แผลงฤทธิ์รวบพระคัมภีร์ อานม้าและข้าวของไว้ได้ก่อนที่มันจะจมลงใต้น้ำ

ทั้งหมดขึ้นถึงฝั่งตรงกันข้ามด้วยเนื้อตัวที่เปียกปอน พระถังนั้นหนาวสั่น มือทั้งสองข้างชาเพราะหอบพระไตรปิฎกไว้แน่น ท้องฟ้าก็มืดมิด เพราะมีพายุจัด 

รุ่งเช้า เมื่อพายุสงบ อาจารย์และศิษย์ต่างก็ช่วยกันผึ่งพระคัมภีร์ให้แห้ง พระถังก็นั่งเฝ้าดูพระคัมภีร์อยู่ ในขณะนั้น ตาเฒ่าตั๊นเท่ง ตั๊นเซ้ง และชาวบ้านตั๊นแกจึง ได้ออกมาคารวะพระถัง ตั๊นเท่งถามพระถังถึงเหตุร้ายที่เกิดกลางน้ำ พระถังก็เล่าว่า " เพราะเราลืมคำถามฝากของเต่า คัมภีร์จึงเปียกแฉะหมด "

ครั้นพระคัมภีร์เหล่านั้นแห้งสนิทแล้ว ต่างก็ช่วยกันรวบรวมเก็บ จึงได้พบว่า เนื้อความพระคัมภีร์ปุนเห้งเกงสองสามเล่ม แห้งติดกับหินอยู่ "อักขระที่สำคัญจึงได้ขาดหายไป " 

พระถังเห็นเช่นนั้นก็กล่าวโทษว่า เห้งเจียไม่ดูแลให้ดี เห้งเจียก็อธิบายว่า "เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเพราะฟ้าดินจะมิยอมให้พระคัมภีร์นั้นครบถ้วน เพราะว่าพระธรรมล้ำลึกวิเศษสุดนั้น เกินวิสัยของคัมภีร์จะบันทึกได้"

ตาเฒ่าแซ่ตั๊น ก็นิมนต์พระถังและศิษย์ไปที่บ้าน แล้วถวายภัตตาหารการบุญเอิกเกริก แต่อาจารย์และศิษย์นั้น บัดนี้ เบื่อหน่ายต่ออาหารของปุถุชน จึงไม่มีผู้กินภัตตาหารเลย 

เสร็จการบุญแล้ว ตาเฒ่าและชาวบ้านต่างช่วยกันสร้างอาราม ชื่อ เซงยี่(ช่วยชีวิต) เพื่อระลึกถึงพระถังและศิษย์ แล้วนิมนต์ให้ไปพักค้างอยู่ที่อารามแห่งนั้น แล้วลอบใส่กุญแจขังพระถังไว้ เพื่อเขาจะได้ทำบุญต่อไปอีกในวันรุ่งขึ้น พระถังเกรงว่าชาวบ้านจะไม่ยอมให้ลาจาก จึงให้เห้งเจียสะเดาะกุญแจแล้วหนีไปกลางดึก

กล่าวถึงท้าวกิมกังทั้ง ๘ ครั้นเห็นว่าพระถังหมดสิ้นภัยตามอำนาจของฟ้าดินทุกประการแล้ว ก็เหาะลงมาโอบอุ้มพระถังและศิษย์ พามุ่งตรงไปยังเมืองเชียงอาน แผ่นดินไต้ถัง

ฝ่ายพระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ ทราบข่าวที่พระน้องยาเธอถังซัมจั๋งกลับถึงเมืองเชียงอาน พร้อมทั้งพระไตรปิฎกครบถ้วน ก็ทรงปีติโสมนัส เสด็จออกมารับพระถังแล้วพาขึ้นสู่ท้องพระโรง พระถังกราบบังคมทูลรายงานการเดินทางแต่โดยย่อ

พระเจ้าถังไทจงฮ่องเต้ทรงมีพระราชศรัทธาใหญ่ ทรงแต่งคำประพันธ์ แล้วให้คัดลอกพระธรรมคำสอนเผยแผ่พระธรรมคุณ พร้อมทั้งยกย่องเกียรติคุณของพระถังให้ลือเลื่องไปทั่วเมืองจีน 

จากนั้น พระองค์ทรงอาราธนาให้พระถังซัมจั๋งแสดงพระธรรมเทศนา ในขณะที่พระถังแสดงธรรมอยู่บนธรรมาสน์นั้น ท้าวกิมกังทั้ง ๘ ก็ร้องเรียกพระถังอยู่บนอากาศ แล้วท้าวกิมกังก็มาอุ้มหอบเอพระถังเหาะลิ่วไปสู่เขาเล่งซัว วัดลุยอิมยี่ เพื่อรับเกียรติคุณจากพระยูไล







รูป : คำฝากถามของเต่าว่าอย่างไรนะ ?

นาม : เมื่อไหร่นะ คนในโลกจึงจะยอมรับว่า คุณธรรมอย่างเต่านั้นคือมนุษยธรรมที่แท้ ...?

รูป : อะไรเล่าคือคุณธรรมอย่างเต่า...?

นาม : ซื่อสัตย์ ไร้เดียงสา..........ไร้มายาไร้ปลิ้นปล้อน
สงบใจไม่เร่าร้อน............นอนแช่น้ำฉ่ำชีวี

รูป : ถ้ากิเลสรุมสุมมาเล่า...?....

นาม : .....................หดเข้ากระดองผ่องราศี
หัวหนึ่ง ตีนอีกสี่

รูป : อ๋อ ขันธ์บริสุทธิ์หยุดอุปาทาน......

โหงว : วุ่นโลกีย์เปรียบขี่เรือเหาะ........เร็วเหมาะเจาะเพาะสังสาร

นาม : แต่ขี่เต่าเข้านิพพาน................

โหงว : ไปเร็วเหลือ เชื่อไหมเธอ...?

รูป : เป็นอันว่า ซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไร้มายาสาไถยคือมนุษยธรรมแท้ ที่คนฉลาดเฉโกในโลกหาว่าเป็นคนโง่เง่า ไม่ยอมรับแล้วยังหมิ่นเหยียดหยามนานา

นาม : ด้วยเหตุฉะนี้................พระคัมภีร์จึงเปียกแฉะ

รูป : รู้ปิฎกกระดกแกละ........แหละยกหางวางท่าทาง

นาม : คัมภีร์จึงมีมลทิน...........เพราะหมิ่นทางสะอาดสว่าง

โหงว : ปิฎกจึงตกค้าง..............อักขระด้วนกระบวนธรรม

รูป : เป็นอันว่า ธรรมแท้ที่เป็นส่วนคุณธรรมของเต่าคือซื่อบริสุทธิ์ไร้เดียงสานั้น มักจะหาไม่พบในผู้รู้เทศน์ รู้ท่อง รู้เรียนพระไตรปิฎก

นาม : เพราะว่าคุณธรรมชนิดนี้ถูกลบอักขระออกจากพระคัมภีร์...

รูป : ยิ่งเรียนมาก ค้นคว้าจนตาลายยิ่งหาไม่พบ

โหงว : พบแต่ตัวตนในทางแตกฉาน จนยกหางข่มผู้อื่น ยิ่งไม่เป็นเต่า

รูป : กลับเป็นสัตว์ มีหูมีหางกระดก หดไม่ลง จมไม่ลง

นาม : ไม่มีกระดองสำหรับหดหัวหดตีนอย่างเต่านี่...

รูป : เอาล่ะ ต่อไปพระถังและศิษย์เบื่อหน่ายอาหารของปุถุชน ไม่มีผู้กินอาหารเลย...?

นาม : กิเลสโลภลาภอาบสักการ......คืออาหารของปุถุชน
พอชีวินสิ้นกังวล................. วิมุติปริ่มอิ่มนิรันดร์

โหงว : การกินนั้นมีอยู่...................แต่ผู้กินมิใช่ "ฉัน"

รูป : อ๋อ...ธาตุลิ้นกินรสอัน -........สักว่าธาตุ ปราศตัวตน

นาม : เอ้า.....เขาขังพระถังไว้.........หวังถวายกองลาภผล

รูป : เห้งเจียโง่พิกล....................ไฉนะสะเดาะ เหาะกลางดึก?
เห็นมีแต่พระตะกละ............ประจบสก อกระทึก

โหงว : ข้อนี้ไว้ให้เจ้าตรึก................นึกตรองดู คงรู้เอง

รูปนาม : ...เฮ้อ...กลุ้ม


(จบบทที่ ๔๙ โปรดติดตามตอนต่อไป...)






* คัดจาก "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" โดย "เขมานันทะ" หน้า ๒๙๕ - ๓๐๑ )