หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

(ตอนที่ ๓๓) บทที่ ๓๐ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ดุจพงหนาม

บทที่ ๓๐
วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ดุจพงหนาม


พระถังและศิษย์ออกเดินทางจากเมืองเจ่จั้ยก๊กแล้ว ก็บ่ายหน้าสู่ทิศปราจีน บรรลุถึง "ทางที่ไม่มีคนเดินเสียนานแล้ว จึงได้เกิดเป็นพงหนามยาวตั้ง ๘๐๐ โยชน์" โป้ยก่ายจึงเนรมิตกายให้ใหญ่แล้วใช้คราดวิเศษ คราดพงหนามนำหน้าคณะไปจนเวลาจวนค่ำก้หาพ้นจากพงหนามได้ไม่ 

ทั้งหมดได้พบศาลเจ้า มีปีศาจตาเฒ่ากับปีศาจหน้าเขียวออกมาร้องเชิญให้พระถังเข้าไปกินขนมแก้หิว เห้งเจียพิจารณาดุก็รู้ว่าเป็นปีศาจจึงชักตะบองออกจากหูเงื้อจะตี ปีศาจทั้งสองก็บันดาลให้เป็นสายลมพัดหอบพระถังซัมจั๋งหายไป ศิษย์ทั้งสามเที่ยวตามหาโกลาหลก็ไม่พบ

ปีศาจตาเฒ่าชื่อจับโป้ยกง หอบพระถังมาได้แล้วก็เรียกปีศาจน้องชายอีก ๓ คน คือตาเฒ่าโกเต็กกง ตาเฒ่าลินกงจื๊อ และตาเฒ่าฮุดหุ้นโซ้ ให้มาฟังพระถังเทศนา ปีศาจเฒ่าทั้งสี่นั้นเป็นปีศาจที่ใคร่ในการฟังธรรมยิ่งนัก เวลานั้นเดือนหงายกระจ่างฟ้า พระถังให้มีใจเคลิบเคลิ้มและยินดีต่อการแสดงธรรม จึงได้เทศน์เสียไพเราะลึกซึ้งเป็นอัศจรรย์ ปีศาจทั้งสี่สรรเสริญไม่หยุดปาก แล้วชวนพระถังต่อกลอนโต้กันไปมา เป็นที่เพลิดเพลิน

ยังมีปีศาจอีกตนหนึ่งชื่อนางเซียนหนึง เห็นพระถังแล้วให้มีใจรักใคร่กำหนัด ครั้นเห็นพระถังเคลิบเคลิ้มก็เข้าเกี้ยวพาราสีด้วยโคลงกลอนอันไพเราะกลางแสงเดือน ฝ่ายพระถังเมื่อรู้สึกตัวว่าถูกผู้หญิงเกี้ยวก็โกรธ ร้องตวาดไล่แล้วตัวเองก็วิ่งหนี พวกปีศาจเฒ่าทั้ง ๔ พร้อมทั้งสาวใช้ ๒ คนของนางเซียนหนึงก็วิ่งไล่จับ ล้อมสกัดไว้ทุกทิศ พระถังเลยจนมุมอยู่ตรงกลาง

ขณะนั้นเองพระถังก็ได้ยินเสียงเรียกของเห้งเจีย เพราะเสียงตวาดไล่นางเซียนหนึงของพระถังทำให้เห้งเจียจำได้จึงขานรับ 

ครั้นแล้วปีศาจทั้ง ๘ ก็อันตรธานหายไปด้วยเสียงของเห้งเจีย เห้งเจียเห็นแต่พระถังนั่งอยู่ที่เพิงหินมีต้นไม้ใหญ่ครึ้มแผ่คลุมอยู่ จึงได้กำหนดรู้ว่าเป็นปีศาจต้นไม้ทั้ง ๘ นั่นเองที่มาจับพระถังไว้

ตาเฒ่าจับโป้ยกงคือปีศาจต้นสน
ตาเฒ่าโกเต็กกงคือปีศาจต้นเป็ก
ตาเฒ่าลินกงจื๊อ คือปีศาจต้นไทร
ตาเฒ่าฮุดหุ้นโซ้คือปีศาจต้นไผ่
ปีศาจหน้าเขียวคือต้นเคี่ยม
นางเซียนหนึงคือปีศาจต้นตะเคียน
สาวใช้ทั้ง ๒ คือปีศาจต้นสารภีและอบเชย


ฝ่ายโป้ยก่ายเมื่อรู้ตามที่เห้งเจียบอกแล้ว ก็เอาคราดวิเศษ ๙ ซี่ล้มต้นไม้ ก็มีโลหิตไหลออกมา โป้ยก่ายก็ถอนรากถอนโคนเสียตายสิ้น






รูป : สำคัญ ๆ ปีศาจชอบฟังธรรม กิเลสในธรรมะแน่ ๆ 

นาม : วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการน่ะซี

รูป : ก็ปีศาจมี ๘ ตัวเท่านั้นนี่...?

นาม : สิบ ลองไล่ภูมิดูก่อน มีหลักว่าหลังจากพระโยคาวจรหรือผู้ปฏิบัติธรรมเฝ้าสังเกตด้านในจนเกิดอุทยัพพยญาณ - ญาณเห็นการเกิดดับของสังขารธรรมแล้ว จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าอุปกิเลสในวิปัสสนานั้น ๆ อันเป็นเหตุให้สำคัญตนนั่นนี่ให้วุ่นไป

รูป : สิบประการอะไรบ้าง ว่ามา...?

นาม : ๑. โอภาส คือแสงสว่าง จนสำคัญตนว่าได้ของวิเศษ 
๒. ญาณ คือความรู้แจ่มแจ้งในธรรมสโมธาน จนเป็นเหตุให้สำคัญตนว่าบรรลุอรหัตตผล
๓. ปัคคาหะ มีความเพียรที่มากจนเกินพอดี กลายเป็นมิจฉาวายามะ
๔. ปัสสัทธิ ความสงบรำงับเกิดขึ้นชนิดไม่เคยมีมาก่อนจนทำให้ยึดมั่นถือมั่นว่าได้ของวิเศษ
๕. ปีติ
๖. สุขะ
๗. อุเบกขา 
๘. สติแน่วแน่
๙. อธิโมกข์ (ศรัทธากล้า)
๑๐. นิกันติ (ตัณหา - อาลัย) ไม่อยากเลื่อนไปที่อื่น
ทั้งหมดนี้จะเป็นที่ตั้งแห่งความสำคัญตนว่า "เราได้บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้ว" ซึ่งที่แท้เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนาเท่านั้น

รูป : ถ้าอย่างนั้นก็อย่าปฏิบัติธรรมดีกว่า เกิดกิเลสเปล่า ๆ 

นาม : เจ้าเซ่อ....อุปกิเลสในวิปัสสนานี่แหละจะเป็นทาง

รูป : เป็นไปได้อย่างไร ?

นาม : อุปเกลเส อนิจจาทิวสเต โสทยัพพเย ปัสสโต วีถิโนกกันต ทัสสนัง วุจจเต ปโถ. แปลว่า ความเห็นอันไม่พลาดไปจากวิถีแห่งวิปัสสนาของพระโยคาวจร ผู้เห็นอยู่ซึ่งอุปกิเลสว่า ยังอยู่ในอำนาจของอนิจจัง เป็นต้น คือยังมีการเกิด - ดับ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า (นั่น)เป็นทาง(มรรค)

รูป : อธิบายหน่อยพ่อนักอภิธรรม

นาม : คือว่า การกำหนดรู้ว่า วิปัสสนูปกิเลสนั้นยังอยู่ในวิสัยของอนิจจังคือเปลี่ยนได้อีก นั่นแหละจะเป็นมรรคขึ้นมา

รูป : ถึงอุทยัพพยญาณแล้วเกิดวิปัสสนูปกิเลส อันเป็นเหตุให้เผลอยึดมั่นว่าได้บรรลุแล้ว ครั้นสังเกตว่ามันแปรเปลี่ยน นั่นแลเป็นทาง 

นาม : ใช่

รูป : เดี๋ยวก่อนพ่อ ปีศาจมี ๘ ตนเท่านั้น อาจารย์คงเผลอ หรือฟั่นเฟือนลืมเสีย ๒ ตน

โหงว : เปล่านะ นับให้ดี ครบทั้งสิบ

นาม : เอ้า...ลองนับดู

ตาเฒ่าจับโป้ยกง ปีศาจต้นสน คือสุขะ
ตาเฒ่าโกเต็กกง - ปีศาจต้นเป็ก คืออุตสาหะ(วิริยะ)
ตาเฒ่าลินกงจื้อ - ปีศาจต้นไทร คือปัสสัทธิ (ความสงบรำงับ)
ตาเฒ่าฮุดหุ้นโซ้ - ปีศาจต้นไผ่ คืออุเบกขา
นางเซียนหนึง - ปีศาจต้นตะเคียน คือปีติ
สาวใช้ - ปีศาจต้นสารภี คือ สติ
สาวใช้ - ปีศาจต้นอบเชย คืออธิโมกข์ (ศรัทธากล้า)
ปีศาจหน้าเขียว - ต้นเคี่ยม คือนิกันติ (ตัณหา - อาลัย)


เอ๋...แล้วโอภาสกับญาณคือปีศาจอะไรฮึ ?

รูป : ก็ช่วยเติมให้อาจารย์หน่อยก้ได้ ต้นหญ้าต้นบอนต้นแสงอาทิตย์คือโอภาส ต้นทุเรียนคือญาณ...

โหงว : คิดให้ดี

นาม : พุทโธ่เอ๋ย...โอภาสก็คือแสงเดือนคืนเดือนหงายนั่นเอง 

รูป : ถ้าอย่างนั้น ญาณก็คือความเคลิบเคลิ้มของพระถัง ที่เทศน์เสียอย่างน่าอัศจรรย์ แคล่วคล่องดุจบรรลุพระอรหัตตผลแล้วนั่นเอง

โหงว:
ทางรกหนักหนา..........เพราะว่าขาดผู้
ใจเพชรรอบรู้..............มุ่งสู่มรรคผล


นาม :
จึงเกิดพงรก...............พาวกอลวน
หลงสำคัญตน............ว่าเป็นอรหันต์


รูป :
(เออ...ก็)ทั้งสุขทั้งสงบ....แจ้งจบธรรมขันธ์
ศรัทธากล้าครัน...........มั่นทางวางเฉย


โหงว :
สำคัญตนแปร้............ว่าแน่แล้วเหวย
หลุดพ้นสะเบย...........ใครเคยเท่ากู !

รูป : เอ...อาจารย์ครับ แล้วที่พระถังร้องตวาดนางเซียนหนึงจนเห้งเจียตามมาทันนั่น หมายความว่าอย่างไรครับ ?

โหงว :
ครั้นปัญญาพินิจ......เห็นเป็นอนิจจ์อยู่
โยคีเพ่งดู............หยั่งรู้ความจริง


นาม : นั่นแลคือมรรค

รูป : พอ...ข้าจักฟังยิ่ง

โหงว : ต่อนี้ผีสิงห์...............อึ้งไบ๋เล่าฮุด

รูป : เล่าต่อ เล่าต่อ .....ขอฟังอย่าหยุด

โหงว : ผีเป็นพระพุทธ.......

รูป + นาม : โอ๊ย....เดี๋ยวได้รุดลงนรก! 


(จบบทที่ ๓๐ โปรดติดตามตอนต่อไป...)






** คัดจาก "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" โดย "เขมานันทะ" หน้า ๑๖๗ - ๑๗๓ )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น