หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

(ตอนที่ ๑๕) บทที่ ๑๒ เรือน้ำเต้า (พบซัวเจ๋ง)

บทที่ ๑๒ เรือน้ำเต้า (พบซัวเจ๋ง)


ขึ้นฤดูวสันต์ เวลาจวนค่ำ ศิษย์และอาจารย์ลุถึงฝั่งแม่น้ำหลิวซัวฮ้อ ฝั่งตรงข้ามกว้างไกลสุดสายตาของพระถังและโป้ยก่าย แต่อยู่ในทัศนวิสัยของเห้งเจีย 

ขณะที่กำลังรีรอกันอยู่นั้น ปีศาจซัวหงอเจ๋งก็โผล่พรวดขึ้นมา จะจับพระถังกินเป็นอาหาร โป้ยก่ายเข้ารุมรบเป็นโกลาหล พอเห้งเจียเข้าช่วย ปีศาจก็ตกใจกระโดดหนีลงน้ำ โป้ยก่ายตามลงไป ล่อขึ้นบก เห้งเจียใจร้อนทนไม่ได้กระโดดผลีผลามเข้าสู้รบ ปีศาจก็กลับมุดน้ำกบดานเสีย เห้งเจียจนปัญญา เพราะว่าหากปราบปีศาจนี้ไม่สำเร็จก็ข้ามแม่น้ำไปไม่ได้ จึงตีลังกาในอากาศถึงเขาน่ำไฮ้ เล่าความให้กวนอิมฟัง 
กวนอิมโพธิสัตว์จึงมอบลูกน้ำเต้าให้แก่ฮุยไง้ศิษย์เอกให้ไปกับเห้งเจีย ฮุยไง้ลอยอยู่กลางแม่น้ำ แล้วร้องเรียกปีศาจว่า..."ซัวหงอเจ๋ง ซัวหงอเจ๋ง ผู้ที่จะไปอาราธนาพระไตรปิฎกยังไซทีมาถึงแล้ว ขึ้นมาเถิด " ปีศาจจึงขึ้นมาจากน้ำแล้วเข้ามาคำนับพระถังและเห้งเจีย แล้วโกนผมสมาทานศีล บวชเป็นพระสงฆ์

ครั้นแล้วซัวหงอเจ๋งก็ได้เอาหัวกะโหลก ๙ หัวของบรรดาผู้คิดจะไปไซที ที่ตนได้จับกินแล้วร้อยกะโหลกเป็นมาลัยคล้องคอไว้นั้น นำมาร้อยติดกันด้วยหวายล้อมลูกน้ำเต้าของกวนอิมไว้ตรงกลาง แล้วเชิญคณะไปไซทีลงขี่ต่างเรือข้ามฟาก พระถังยืนตรงกลาง โป้ยก่ายยืนซ้าย ซัวเจ๋งยืนข้างขวา ข้างหลังคือเห้งเจียจูงม้าขาว ฝ่ายอุยไง้ศิษย์เอกของกวนอิมก็เหาะอยู่เบื้องบนเพื่อตามคุ้มครอง คลื่นลมสงบราบเรียบ เรือน้ำเต้าลอยละลิ่วถึงฝั่งตรงข้าม ฮุยไง้จึงเก็บลูกน้ำเต้าคืน หัวกะโหลกทั้ง ๙ หัวก็หายไป 

เมื่อข้ามแม่น้ำได้แล้วก็บันเทิงใจ ฝั่งตรงข้ามอุดมไปด้วยไม้ผลไม้ดอกออกช่อน่ารื่นรมย์ ศิษย์และอาจารย์ต่างมุ่งมั่นไปสู่ทิศปราจีนด้วยความเบาใจ





รูป : ซัวเจ๋งคืออะไร ? แม่น้ำหลิวซัวฮ้อคืออะไร ?

นาม : สมาธิคือซัวเจ๋ง แม่น้ำหลิวซัวฮ้อคือ มโนนิเวศน์ (การเฝ้าสังเกตใจ ) ในขณะที่จิตอยู่ในนิเวศน์ คือเริ่มมองด้านในเป็น อนันตริกสมาธิจะโผล่ขึ้นมาให้เห็น

รูป : ก่อนหน้ามองด้านในเป็นมันเป็นอย่างไร ? 

นาม : สมาธิก็ยังเป็นปีศาจเงือกอยู่วะ

โหงว : คือมิจฉาสมาธิ เจ้าชักฉลาดขึ้น ลองไขความตอนที่ข้ามแม่น้ำด้วยเรือน้ำเต้าดูที

นาม : ซัวเจ๋งคืออนันตริกสมาธิ (สมาธิที่ต่อเนื่องไม่ขาดสาย) คือสมาธิของชีวิตที่เกิดจากปัญญาในชีวิตประจำวัน การใช้ปัญญาในการสอดส่องพิจารณา ในการพยายามละกิเลสจะมีสมาธิชนิดนี้ควบคู่อยู่เสมอ และในวันที่สมาธิได้ประจักษ์ถึงสมาธินี้ก็เมื่อความยึดมั่นในกามเริ่มถอยกำลัง ซัวเจ๋งนี้คือสมาธิที่เป็นองค์แห่งมรรค ตอนข้ามลำน้ำหลิวซัวฮ้อ คือบารมี ๖ ได้เกิดขึ้นในชีวิตพร้อมพรั่ง คือปัญญา(เห้งเจีย) ศีล(โป้ยก่าย) สมาธิ(ซัวเจ๋ง) วิริยะ(ม้าขาว) ทาน (ฮุยไง้) ขันติ(พระถัง) บารมีทั้ง ๖ บรรทุกไปบนน้ำเต้ากลวง - สุญญตา

รูป : แล้วหัวกะโหลก ๙ หัวของผู้ที่เคยเดินทางไปไซที และถูกปีศาจซัวเจ๋งจับกินเล่า? 

นาม : ?

โหงว : ความเพียรเพื่อจะได้สมาธิชนิดนี้จะต้องจริงจังประหนึ่งว่าเอาความพยายามของชีวิตถึง ๙ ชาตินั่นแหละมารวมกัน

นาม : จึงอุปมาว่า ซัวเจ๋งใช้กะโหลกผีของผู้คิดไปไซทีถึง ๙ หัวมาร้อยเป็นมาลัยคล้องคอ แล้วตอนนี้ก็ใช้เป็นพาหนะขี่ข้ามแม่น้ำไปอีก

รูป : ตอนข้ามน้ำทำไมเห้งเจียจูงม้าอยู่ข้างหลังพระถัง

นาม : ศีลอยู่ซ้าย กลางคือขันติ สมาธิอยู่ขวา ปัญญาอยู่หลัง คลื่นลมจึงสงบ

รูป : แกไม่ได้เฉลยว่าเพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น ในช่วงที่ชีวิตประจักษ์ต่อสมาธิ

นาม : ก็ไม่รู้ซิ มันเป็นของมันอย่างนั้น จะไปหาเหตุผลหาสวรรค์วิมานอะไรกัน

โหงว : ช่วงนั้นสมาธิเพิ่งเกิด จิตเริ่มเป็นหนึ่งแน่ว ปัญญาไม่ต้องทำงานหนัก เพียงแต่กุมบังเหียนวิริยะไว้เท่านั้นเพราะบารมีอื่นพรั่งพร้อมในหน้าที่การงานในช่วงนั้น ๆ แล้ว
ชีวิตเมื่อถึงพร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ที่โน้มเอียงไปทางนิโรธ ทางดับกิเลส (ไซที) จะเริ่มพบกับความสงบสุขระดับหนึ่ง สองข้างทางเดินของชีวิตจึงเริ่มมีไม้ดอกไม้ผลออกช่อน่าชมยิ่ง


(จบบทที่ ๑๒ โปรดติดตามตอนต่อไป...)




**คัดจาก "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" โดย "เขมานันทะ" หน้า ๔๗ - ๕๐ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น