หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2560

(ตอนที่ ๑) ไขความปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว

เดินทางไกลกับไซอิ๋ว

เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว

โดย : เขมานันทะ
จัดพิมพ์โดย : กองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม

จขบ.กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ค่ะ...
เพิ่งจะเริ่มเตาะแตะไปไม่กี่หน้า แต่ก็อยากจะเล่าเสียแล้ว

หนังสือเล่มนี้ได้รับเป็นธรรมะบรรณาการมาจากมือท่านผู้ประพันธ์เองเมื่อหลายปีมาแล้ว
แต่ความหนาของหนังสือก็ทำให้ผัดผ่อนอยู่เรื่อยไป...

มาในช่วงนี้ มลภาวะทางอารมณ์ก่อเกิด จำต้องหาอะไรมาขจัดปัดเป่า จึงหยิบหนังสือเล่มนี้ลงมาปัดฝุ่น
แล้วค่อย ๆ และเล็ม...ทีละหน้า ทีละหน้า อย่างตั้งใจ

นับตั้งแต่ "คำนิยม" ไปเลยทีเดียว...
มา"เดินทางไกลกับไซอิ๋ว" ไปพร้อม ๆ กับดิฉันนะคะ






คำนิยมโดย ล.เสถียรสุต

ไซอิ๋ว เป็นวรรณคดีที่มีคุณค่ามากเรื่องหนึ่งของจีน จัดเป็นงานชั้นเด่นหนึ่งในเจ็ดเรื่อง เช่นเดียวกับ สามก๊ก และ ซองกั๋ง 
เรื่องสามก๊กนั้นแปลเป็นไทยได้ไพเราะชวนอ่าน แต่ซ้องกั๋งและไซอิ๋ว ซึ่งฉบับจีน ภาษาดีมาก 
น่าเสียดายว่าแปลเป็นไทย แล้วไม่อาจรักษาความดีของต้นฉบับไว้เพียงพอ 
ทำให้เรื่องไซอิ๋วนี้กลายเป็นเรื่องอ่านเล่น ไม่เป็นที่สนใจเท่าที่ควร

ในเชิงวรรณกรรมนั้น ผู้รจนาจะมีเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่ข้าพเจ้าพบว่าไซอิ๋ว มีคุณค่าในทางภาษา เพราะได้เก็บรวบรวม คำพูดที่เป็นคำคมของสามัญชนที่พูดกันในปักกิ่ง อันเป็นภาษาพูดที่ถูกต้องและเป็นมาตรฐาน โดยเฉพาะคำพูดของเห้งเจีย ซึ่งมักเอ่ยคำพูดอันคมคายขึ้นมาประกอบด้วยเสมอ 
ซึ่งหากสุขภาพอำนวยให้ทำได้ ข้าพเจ้าก็เคยตั้งใจจะคัดคำแหลมคมเหล่านี้ออกมา เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาอยู่เหมือนกัน 

ในด้านการแต่งนั้น ท่านผู้รจนาก็สามารถสร้างและสื่อแสดงบุคลิกลักษณะเด่นของตัวละครเอก คือ เห้งเจีย โป๊ยก่าย และ ซัวเจ๋งซึ่งแตกต่างกันออกมาได้ดี 

กล่าวคือ เห้งเจียมีลักษณะขี้โมโห และมีความเฉลียวฉลาด 
หมูตือโป๊ยก่ายมีความโลภ และมักมากในการกิน 
ซัวเจ๋งมีความโง่ซื่อเป็นเจ้าเรือน 

แม้ชื่อก็ตั้งได้ตรงกับบุคลิกของตัวละคร 
อย่างเช่นเห้งเจียนี้ แปลว่า นักปฏิบัติ คือถ้าโกรธมากก็ต้องปฏิบัติให้มาก เพื่อควบคุมความโกรธ 
โป๊ยก่ายมีความโลภต้องเอาศีลแปดมาควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสไว้ 
ส่วนซัวเจ๋งนี้โง่ก็ต้องเอาปัญญาเข้ามานำทาง

รวมศีล สมาธิ ปัญญา ของทั้งสามนี้เข้าก็เป็นทางไปสู่ความหลุดพ้นได้
ส่วนพวกปิศาจก็เป็นบุคลิกลักษณะจิตใจชนิดต่างๆ ของคนเช่นกัน 

การตีความปริศนาธรรมใน ไซอิ๋ว เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะมีเค้าให้ทำได้อยู่เหมือนกัน แต่การตีความให้ได้ความหมายทุกจุด ตลอดทั้งเรื่องอาจจะเป็นสิ่งสุดวิสัย เชื่อว่าท่านผู้เขียนคงมีหลักในการแต่ง คือเป็นเรื่องของการจัดการกับความโลภ ความโกรธ ความหลง เมื่อได้ศึกษาพระธรรมมากเข้า กิเลสเหล่านี้ก็จะจางคลายหายไป กลายเป็นเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา

แต่อย่างไรก็ดี คนที่อ่านไซอิ๋วโดยมาก มุ่งเอาความเพลิดเพลินสนุกสนานและเอาประโยชน์ทางภาษาบ้าง 
ไม่ค่อยมีใครอ่านอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่เอาของใหม่ไปปนไว้ในของเก่า 
คนอ่านโดยมากเป็นคนรุ่นเก่า เดี๋ยวนี้ก็คงหาคนอ่านยาก 
เพราะการเดินทาง ไปเจอปิศาจแล้วๆ เล่าๆ บางทีก็รู้สึกซ้ำๆ ซากๆ 
คนที่ไม่มองเห็นความลึกซึ้งเป็นปริศนาธรรม ก็อาจจะเบื่อ 

ในการอ่านหนังสือชุดใหญ่ๆ เช่นนี้ ที่จริงตามตำราท่านให้อ่านโดยตลอดเที่ยวหนึ่งก่อน แล้วจึงค่อยเลือกอ่านเฉพาะตอนที่ดีอย่างพินิจพิเคราะห์ 
มันอาจจะไม่ดีวิเศษหมดทั้งเล่ม 
แต่บางตอนก็อาจมีการเจรจาคมคาย และมีการบรรยายดีมาก 
เป็นประโยชน์แก่การศึกษาในทางภาษามาก 
บางตอนก็อ่านสนุก โดยเฉพาะตอนต้นของไซอิ๋ว 
เมื่อพระถังซัมจั๋งพบกับเห้งเจีย โป๊ยก่าย และ ซัวเจ๋งนี้เขียนได้สมจริงดี 
อย่างเช่นตอนออกเดินทาง พระถังซัมจั๋งไม่มีน้ำ 
เห้งเจียก็อาสาไปขอน้ำให้ ต้องไปขอกับพวกเซียนในลัทธิเต๋า 
เห้งเจียบอกว่าไม่เป็นไร ตนจะพูดจนให้พวกนั้นยกบ่อน้ำให้ตนใช้ไปตลอดทางจนถึงอินเดียเลยทีเดียว แต่พอเข้าไปขอจริงๆ ก็ถูกพวกนั้นเอาดาบไล่ออกมา เพราะเขาเห็นว่า แต่งตัวเป็นพระทางพุทธศาสนา

นี้ก็น่าหัวเราะ ที่เห้งเจียทำไม่สำเร็จอย่างที่คุยโม้ไว้ 
อย่างโป๊ยก่ายนั้นก็เอาแต่จะกินท่าเดียว เห็นบุคลิกเล็กๆ น้อยๆ ได้ชัดเจนดี 

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งของ ไซอิ๋ว คือ สามารถเอาเรื่องที่มีเค้าความจริง แต่ไม่ค่อยมีใครคิดและมองมาเขียนได้เป็นเรื่องเป็นราว
อย่างเรื่องเดินทางไปอินเดียนั้น ที่จริงผู้แต่งเป็นผู้รู้ประวัติศาสตร์ดี และไม่ได้ตั้งใจเขียนเรื่องนี้ให้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ มุ่งเขียนให้อ่านเพลิดเพลิน และก็เขียนได้ดีจริงๆ อุดมการณ์ และจินตนาการที่ท่านคิดขึ้นมานั้นก็นำเสนอได้ดี อย่างเช่นในเรื่องภูเขาที่มีไฟใหม้อยู่ตลอดเวลา ภูเขานี้เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ที่แถบภูเขาอัลไตตาด ทางตะวันตกจนสุดเขตของจีน เป็นภูเขาที่ร้อนจัดเดินผ่านเกือบไม่ได้ 

เรื่อง ไซอิ๋ว นี้คงได้รับอิทธิพลจากรามายณะของอินเดีย 
เวลานั้นจีนได้รับพุทธศาสนาแล้ว และมีวรรณคดีต่างๆ เช่น ชาดก หรือ อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้จีนมีความคิดในทางเอาอภินิหารมาใช้ด้วย เรื่องแปลงกายเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เห้งเจียแปลงเป็นแมลงวันนั้น จีนคงได้รับมาจากทางอินเดียแน่นอน เพราะจีนไม่เคยมีความคิดอย่างนี้ แต่อินเดียเก่งมาก 
การรับอิทธิพลนี้เข้ามา ก็นับว่าเป็นประโยชน์คือทำให้วรรณคดีมีสีสันหลากหลายขึ้น การมีจินตนาการแทรกทำให้อ่านสนุก และต้องชมว่าผู้แต่งก็แทรกได้ดีมากด้วย น่าคิดน่าวิจารณ์ 

ในทางธรรมะ บางตอนก็มีประโยชน์มาก อย่างเช่นการเดินทางไปถึงไซที(อินเดีย) แล้วได้พระไตรปิฎกเปล่า ไม่มีตัวหนังสืออยู่เลย
นี้ก็หมายความว่าพระสัทธรรมที่แท้จริงนั้น ไม่ใช้คำพูด ต้องมาจากการปฏิบัติและเข้าถึงจิตใจจริง ๆ แต่ว่าคนยังต้องการคำพูดที่เข้าใจได้ ดังนั้น พระถังซำจั๋งจึงต้องขอเอาฉบับที่มีตัวหนังสือกลับไปเมืองจีน

ในประวัติศาสตร์นั้น พระถังซัมจั๋งนั้นได้แปลคัมภีร์มากมาย 
เพราะภาษาอินเดียท่านก็รู้ดี ภาษาจีนท่านก็รู้ดี จึงอ่านเองแปลเอง ได้ 
แต่ก่อนหน้านี้มีการแปลเหมือนกัน แต่ต้องผ่านล่าม ๓ - ๔ คน ฉบับที่ท่านแปลจึงถือได้ว่าเป็นฉบับแปลใหม่ แต่ก็อ่านยาก บางทีอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะท่านใช้ไวยากรณ์สันสกฤต ไม่ใช้ไวยากรณ์จีน

เคยมีเรื่องปรากฎว่า มีประโยคหนึ่งมีอักษร ๗ ตัวเท่านั้น 
แต่ท่านพิจารณาตั้งหลายปีกว่าจะลงเอยว่าจะแปลอย่างไรดี 
เรียกว่าเป็นผู้ทำงานละเอียดมาก ยากจะหาคนเปรียบได้ 

มีเกร็ดที่ลูกศิษย์เขียนเล่าไว้ในประวัติของท่านว่า พระถังซัมจั๋งเคยบวชมาแล้ว ๗ ชาติ มีสมณสารูปดีมาก เวลานั่งก็นั่งตัวตรง ไม่เอียง ไม่พิงอะไร 
แล้วที่แปลกที่สุดคือ ไม่มีใครเคยเห็นท่านหาวเลย อยู่ดึกเท่าไรก็ไม่หาว สมาธิดีมาก เมื่อยามท่านตาย เขาเล่าว่าท่านหกล้มและท่านมีโรคคล้ายรูมาติสซั่ม จากการตรากตรำเมื่อไปอินเดีย โรคก็ลุกลาม ท่านตายตั้งแต่อายุไม่มาก นัก สัก ๕๙ -๖๐ ปีเท่านั้นเอง
แต่ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนและทำงานทางคัมภีร์ไว้มาก 
ระหว่างผจญภัยไปอินเดียก็อดๆ อยากๆ ลำบากมาก ประวัติของท่านนับว่าน่าศีกษา แม้บางตอนจะดูมหัศจรรย์เกินไปสักหน่อยก็ตาม 

รวมความว่าหนังสือ ไซอิ๋ว รวมทั้งเรื่อง พระถังซัมจั๋ง นี้เป็นหนังสือดี ที่จะชักจูงให้คนสนใจในพุทธศาสนาได้ ท่านผู้รจนาไซอิ๋ว ต้องเป็นผู้มีความรู้ทางพุทธศาสนาดีมาก และยังมีฝีมือในทางวรรณศิลป์ด้วย ท่านไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นตำราประวัติศาสตร ์หากเจตนาจะให้อ่านสนุกและมีความหมายในทางธรรมะบ้าง นับเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าน่าอ่านเรื่องหนึ่ง ซึ่งทั้งปัญญาชน และ ปัญญาอ่อนสามารถอ่านได้ แต่ใครจะได้รับอะไร ก็ขึ้นอยู่กับวินิจฉัย เจตนาในการอ่าน และภูมิปัญญาของผู้อ่านนั้นเป็นสำคัญ 
ใครอ่านอย่างไร ก็ย่อมได้อย่างนั้น

ล.เสถียรสุต




คำนิยมโดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

อ่านไซอิ๋ว

ได้เดินทางไกลกับไซอิ๋ว
ลิ่วลิ่วล่องไปในแดนจิต
มากมีมายาสารพิษ
มากฤทธิ์ร้อยพันสารภัย

บางครั้งเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
นานาความอยากมักได้
คอยตั้งแต่จะเอาเข้าไป
เท่าไรเท่าไรไม่เคยพอ

บางครั้งรั้นโลดโดดดุ
ราวไฟปะทุติดต่อ
ทำลายไม่ยั้งไม่รั้งรอ
เก่งกาจจริงหนอนะใจเรา

บางครั้งงมเงื่องเซื่องซึมเซ่อ
ละเมอเพ้อบ้าพาขลาดเขลา
มืดมนหม่นมัวมั่วมึนเมา
จับเจ่าจ่อมจมจนจำเจ

ถอยหลังนั่งยามตามดูจิต
เห็นฤทธิ์เห็นรอยกำหราบเล่ห์
เห็นภูมิปัญญามาถ่ายเท
เสน่ห์ผู้รู้ผู้ตีความ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
พฤ. ๒ พ.ย. ๒๕๓๒


หมายเหตุจขบ.

หนังสือเล่มนี้ที่มีอยู่ในมือเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ จัดพิมพ์โดยกองทุนวุฒิธรรมเพื่อการศึกษาและปฏิบัติธรรม ยังใช้ชื่อเดิมของหนังสือคือ "เดินทางไกลกับไซอิ๋ว :วิเคราะห์ปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋ว" หากในการพิมพ์ครั้งที่สามและครั้งหลัง ๆ ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น"ลิงจอมโจก" เพื่อเน้นเนื้อหาทางปัญญาให้มากขึ้น แต่จขบ.ชอบชื่อเดิมมากกว่า จึงชอยึดตามชื่อเดิมของหนังสือเล่มที่ตัวเองอ่านอยู่

อนึ่ง นี่ไม่ใช่การรีวิวหนังสือ หากแต่เป็นการ "บอกต่อ" โดยจะพยายามเก็บเกี่ยวเนื้อหาสาระของหนังสือเล่มนี้มาถ่ายทอด (ถ้าเป็นไปได้) ตั้งแต่ต้นจนจบ จะของดเว้นการวิเคราะห์วิจารณ์ใด ๆ นอกเหนือไปจากที่ท่านผู้ประพันธ์ได้ "ไขความ" ไว้ค่ะ

ถ้าท่านเห็นว่าการเดินทางครั้งนี้น่าสนใจ ก็ขอเชิญติดตาม...เดินทางไปพร้อม ๆ กับจขบ.ได้ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น