หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

(ตอนที่ ๒ ) คำนำผู้ไขความ


ก่อนการเดินทาง เราก็ต้องมาทำความรู้จักกับผู้นำทางก่อนนะคะ...ในการอ่านหนังสือแต่ละเล่ม หน้าแรกเลยที่จขบ.จะอ่านก็คือคำนำ ...เพราะคำนำจะเป็นตัวช่วยในการทำความเข้าใจกับเนื้อหาภายในหนังสือได้เป็นอย่างดี

และโดยเฉพาะหนังสือไขปริศนาธรรมจากมหากาพย์ไซอิ๋วนี้ คำเกริ่นนำของผู้ไขความมีความสำคัญมาก ทุกถ้อยคำมีความหมาย มีนัยยะจนไม่อาจจะย่นย่อเอาตามใจตัวเอง จึงขอคัดลอกมาทั้งหมด





(ภาพปกหนังสือ"ลิงจอมโจก" ฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด)




คำนำผู้ประพันธ์ ในการพิมพ์ครั้งแรก


ข้าพเจ้าเคยอ่านหนังสือ ไซอิ๋ว เมื่อ ๒๐ ปีก่อน และได้อ่านหนังสือการ์ตูนอีกหลายครั้ง แต่ก็หาได้รับความรู้สึกแปลกหรือใหม่กว่าเดิมไม่ กล่าวคือก็เหมือนกับความรู้สึกของนายวรรรณ ตุลวิภาคพจนกิจ ผู้เกลาสำนวนแปลไซอิ๋ว ของนายติ่น ซึ่งท่านผู้นั้นได้แสดงความรู้สึกไว้ตอนท้ายเรื่องว่า ไซอิ๋ว เป็นเรื่องชนิด "แต่อยู่ข้างติดตลกหัวอกลิง เท็จกับจริงปนกันทั้งนั้นเอย " ทั้งนี้เพราะว่าช่วงเวลาในท้องเรื่องที่ผู้แต่งวางไว้นั้นไม่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์ กล่าวคือแต่งให้หลวงจีนเหี้ยนจัง หรือ สมณะยวนฉ่าง เดินทางไปไซที(ถิ่นตะวันตกคือ ชมพูทวีป) แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าจนได้อาราธนาพระไตรปิฎกกลับสู่กรุงจีน ผู้ที่มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ย่อมทราบกันดีว่ากาลเวลาของพระพุทธองค์กับหลวงจีนเหี้ยนจังนั้น ห่างกันตั้งเกือบ ๑๐ ศตวรรษ กล่าวคือ หลวงจีนเหี้ยนจังได้เดินทางจากกรุงจีนในรัชสมัยพระเจ้าหลีซิบิ๋น หรือ พระเจ้าถังไทจงแห่งราชวงค์ถัง 

ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเข้าใจไปว่าท่านผู้รจนาเรื่องนี้ต้องสะเพร่า หรือไม่เรื่องทั้งหมดก็เขียนจริงกับเท็จปนกันดังกล่าวแล้ว อีกทั้ง ไซอิ๋ว เป็นหนังสือรวมอยู่ในพงศาวดาร ซุยถัง ก็ยิ่งชวนให้เข้าใจว่า ถ้ากวีไม่บกพร่องก็แกล้งเขียนจนเหลิงเจิ้ง ตามแบบฉบับของการเขียนตำนานหรือพงศาวดาร ทั้งชื่อเมือง ชื่อตำบล ภูเขา ในเขตแดนไซที(ชมพูทวีป) นั้นก็ล้วนเป็นชื่อจีนเสียทั้งสิ้น จึงลงความเห็นว่าผู้แต่งนั่งหลับตาเขียนโดยเอาพระถังซัมจั๋ง ผู้มีเกียรติคุณเป็นตัวเอกไปตามความนึกคิด นายติ่นผู้แปลไซอิ๋วจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยไม่ยินยอมให้นายวรรณแก้ไขสิ่งที่นายวรรณเห็นว่าผิดทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ นึกแล้วก็น่ากลัวหากว่านายติ่นยินยอม เพราะไซอิ๋วที่เป็นปริศนาธรรมที่วิเศษนั้น ก็คงจะถูกดัดแปลงทำลายเนื้อหาทางจิตวิญญาณเพราะการอันนั้น

ท่านผู้แต่งได้ซ่อนเพชรพลอยไว้ ทั้งในแง่วรรณศิลปและส่วนลึกซึ้งทางจิตใจ ในคำสนทนาของเห้งเจีย โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง และพระถังซัมจั๋งกับทั้งตัวประกอบอื่น นี้โสดหนึ่ง ส่วนความเยี่ยมยอดนั้นกลับไปอยู่ที่โครงสร้างของการเดินทางฝ่ายจิตวิญญาณ แต่ต้นจนจบตามเนติธรรมเนียมแห่งการแต่งมหากาพย์

หากพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้วจะพบว่า ไซอิ๋ว ได้รับอิทธิพลมาจาก รามายณะ ยวนฉ่าง(องค์จริงในทางประวัติศาสตร์) ได้กลับจากอินเดียหลังจากที่ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ถึง ๑๐ ปีกว่า พระตรีปิฏกแห่งราชวงค์ถัง ผู้เป็นยอดนักศึกษาคงจะเป็นภาชนะใหญ่ บรรทุกฮินดูธรรมและพุทธธรรมไปกำนัลแผ่นดินจีน ท่านผู้รจนาคงรับทราบถึงความวิเศษของมหากาพย์ของฃาวอินเดีย คือ มหาภารตยุทธ รามายณะ ฯลฯ แล้วคงเป็นเหตุบันดาลใจให้กวีจีนผู้นี้รจนาขึ้นบ้าง ดังที่เราเห็นได้ชัดว่า เห้งเจียนั้นถอดแบบมาจากหนุมานทุกประการ ข้อต่างอยู่ที่หนุมานของอินเดียนั้น เป็นอุปมาพลังแห่งภักตะ(ภักดี) ต่อองค์พระราม(คือ สัจจะ) ในการยกทัพไปช่วงชิงสีดา(อาตมัน) จากราวณะ(อหังการ) ซึ่งเป็นคติธรรมทางฮินดู รามายณะ ที่ท่านมหาโยคีวาลมิกิรจนาขึ้นนั้น เป็นการอธิบายเรื่องของจิตวิญญาณที่ได้หุ้มเรื่องจริง คือประวัติของรามจันทราแห่งอโยธยา วาลมิกิได้แปลงให้รามจันทราเป็นสัจจะ เช่นเดียวกับหลวงจีนยวนฉ่างผู้ทรงเกียรติคุณได้ถูกแปลงเป็นขันติ เห้งเจียของจีนนั้นเป็นโพธิปัญญา โป๊ยก่ายนั้นคือศีล และซัวเจ๋งนั้นก็คือสมาธิ


รามายณะ นั้นดำเนินเรื่องสงครามระหว่างสัจจะ(รามจันทรา) กับอหังการ(ทศกัณฐ์) เช่นเดียวกับมหาภารตยุทธ ที่กำหนดให้การเดินป่าเป็นความเป็นไปท่ามกลางของการปฏิบัติธรรม ส่วน ไซอิ๋ว ให้เป็นการเดินทางผ่านป่าทุรกันดาร ผจญภูติผีปีศาจนานา ทั้งสามมหากาพย์นี้เป็นการนำเรื่องจริงทางประวัติศาสตร์มาห่อหุ้มใหม่ พร้อมกับดัดแปลงตัวละครให้เป็นคุณค่าทางศีลธรรม หรือโลกุตรธรรม วีรบุรุษเหล่านั้นมหากาพย์ได้ถุกปัดความเป็นคนออกไปสิ้น เหลือแต่ความเป็นทิพยลักษณะ(DIVINITY) สำหรับฮินดูธรรม และเป็นคุณธรรมหรือบารมีสำหรับพุทธธรรม


มีอยู่หลายตอนที่ผู้แต่งหยิบมาจาก รามายณะ ตรงๆ เช่นใน รามายณะ หนุมานไปพบนางสีดาในสวน แล้วไม่สามารถอุ้มนางมาได้ เพราะจะเป็นมลทินแก่นาง(รามเกียรติไทย นิยมเรียกตอนนี้ว่า หนุมานถวายแหวน) ซึ่งแท้จริงมีความหมายมากกว่านั้น ซึ่งจะเฉลยรวมกับไซอิ๋ว ในตอนเห้งเจียตีลังกาไปหาพระยูไล แลัวไม่สามารถรับพระไตรปิฎกมาเมืองจีนได้นั่นเอง เพราะว่าต้องรอให้ปัญญาหรือโพธิจิตนี้ ได้มีบารมีอื่นสนับสนุน 
และที่สำคัญต้องผ่านการฆ่าปีศาจ นั่นคือชนะอุปสรรคต่างๆได้แล้ว จึงจะได้รับวิมุติ มิใช่ว่าจะเข้าถึงได้ด้วยสักแต่การ คิดๆ นึกๆ ตามแบบอย่างวิธีการของปรัชญา 

ใน ไซอิ๋ว ทั้งคณะต้องผจญปีศาจฉันใด พระรามก็ต้องจองถนนไปลงกาฉันนั้น ลำพังจะให้เห้งเจียเข้าถึงพุทธะก็ได้ แต่ไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ได้ เพราะยังไม่รู้อริยสัจตามที่เป็นจริง 

หรือ ตัวอย่างที่เราอาจจะเห็นได้ดีกว่า แม้ความรู้เรื่องสุญญตาหรือความว่างถูกต้องแล้ว แต่ยังต้องเป็นทุกข์กระสับกระส่าย เรื่องทั้งนี้เพราะว่านั่นยังเป็นเพียงความรู้เฉยๆ ยังหาใช่ญาณจักษุในอริยสัจไม่ ต่อเมื่อชีวิตผ่านการสู้รบกับภูติผีปีศาจแล้ว จึงจะเป็นสัจจะที่มั่นคงขึ้น การตีลังกาไปหาพระยูไลนั้น แม้จะเป็น "ฤทธิ์ " แต่เป็นสิ่งชั่วคราว นั่นคือจะทำเป็นเข้าถึงความไม่ยึดมั่นถือมั่นดื้อๆ พาลๆ นั้นไม่ได้ แต่การรู้จักพระยูไลแม้ด้วยการตีลังกาไปก็ยังเป็นหลักประกันที่แน่นอนว่า เห้งเจียไม่เคยหลงยึดถือหรือหลงกลปิศาจตนใหน เพราะได้รู้จักพุทธภาวะถูกต้องดีมาก่อนนั่นเอง ดังนั้นการตีลังกาไปหาพระยูไลเมื่อคราวอับจนนั้น ก็คือการทำให้ว่างจากความยึดมั่นด้วยอุปาทาน ก็พลันถึงพุทธภาวะ แม้เป็นการชั่วคราว ปีศาจคือกิเลสก็พ่ายแพ้ไปได้เช่นกัน 
ในตอนเห้งเจียสู้รบกับลักฮี้เกา(วิภวตัณหา)นั้น เห็นเค้าว่าพาลีรบสุครีพอยู่ชัดเจน ในส่วนอรรถะของปริศนาก็วิเศษตรงอุปมาว่า ความอยากเป็นพระอรหันต์เป็นภวตัณหา ปัญญาที่จะละภวตัณหา จึงสู้รบกันเอิกเกริก เพราะไม่สามารถแยกออกว่า ใหนเป็นปัญญา ใหนเป็นภวตัณหา จนพระยูไลต้องเสด็จไปตัดสิน 


ตอนปราบปีศาจไซท่อ(สิงโต) ของพระกวนอิมนั้น มเหสีของพระเจ้าแผ่นดินจูจี๊ก๊กได้รับเสื้อหนามพุงดอสวม ปีศาจจึงเข้าไกล้มิได้ ดูเค้าจะเลียน รามายณะ ตอนทศกัณฐ์จะเข้าไกล้สีดาก็ให้รุ่มร้อนดังเข้าไกล้ไฟ

ที่เมืองปีเปี๊ยกก๊ก เห้งเจียแหวกอกให้ดูว่าไม่มีใจ นี้ในส่วนความหมายตามวิธีหรือตามทางแห่งมหายานนั้น มีความหมายวิเศษว่า "พระนั้นต้องไม่มีใจ" และในส่วนอิทธิพลหรือที่มา ยืมมาจากตอนที่หนุมานแหวกอกให้ทศกัณฐ์ดู ในคราวที่ทศกัณฐ์เกลี้ยกล่อมให้เข้าเป็นพวก ในใจหนุมานมีแต่ สีดา -รามเท่านั้น ส่วนพุทธะในใจของพระโยคาวจรหรือภิกษุ จะต้องมีความว่างจากตัณหาอุปาทาน


นอกจาก ไซอิ๋ว หยิบยืมมาจากรามายณะแล้วยังมีเรื่องราวที่หยิบเอามาจากบันทึกการเดินทางของพระสมณะยวนฉ่าง(ตามทางประวัติศาสตร์) มาผสมผสานลงด้วย 
อย่างเช่นเหตุการณ์ตอนสมณะยวนฉ่างไปพบเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุ ที่ท่านได้บันทึกไว้ก็ถูกนำมาใส่ไว้ ตอนหนอน ๙ หัว(มละ ๙) 
บันทึกเรื่องราวการตกแต่งประทีปอันงดงามที่เมืองหนึ่ง ได้กลายมาเป็นตอนปีศาจควายปลอมมาเป็นพระพุทธเพื่อขโมยน้ำมันจันทน์ 


เมื่อพระสมณะยวนฉ่างถูกโจรปล้น ก็ถูกมาไว้ในไซอิ๋วหลายตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนหลวงจีนยวนฉ่าง(องค์จริงตามประวัติศาสตร์) บันทึกถึงการเดินทางที่ท่านนำพระคัมภีร์ ข้ามแม่น้ำสินธุแล้วเกิดเรือล่ม ทำให้อักขระเลือนหายไป จนท่านต้องเสียเวลาคัดลอกใหม่จนครบ ก็ถูกนำมาไว้ในไซอิ๋วใน ฐานะ "ธรรมที่คัมภีร์ไม่ได้บันทึกไว้" ซึ่งพอจะประมวลได้ว่า ไซอิ๋ว เป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ผสมผสานกับรามายณะ ส่วนสำคัญที่สุดก็คือ ท่านผู้รจนาเป็นผู้แตกฉานรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพุทธธรรม เนื้อหาของพระสูตรมากมายถูกนำมาแทรกไว้ตลอด ทั้งเต๋า ทั้งพุทธ ทั้งธรรมเนียม ทั้งภาษิตโบราณ คลุกเคล้ากันไปอย่างน่าสนใจยิ่ง ผู้รู้ภาษาจีนเป็นอย่างดีผู้หนึ่งชี้ให้ข้าพเจ้าได้ทราบว่า แม้แต่ในแง่ภาษาที่แต่ง ก็มีความไพเราะลึกซึ้งยิ่งนัก ไซอิ๋ว จึงแพรวพราวไปด้วยคุณค่ารอบด้าน






ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ทุกสิ่งถูกแปลงเป็นคุณธรรมหมดสิ้น ฉะนั้นผู้อ่านที่หวังสุนทรียรสก็จะได้ในระดับหนึ่งดังกล่าวแล้ว ส่วนอรรถะหรือธรรมรสนั้น จำเป็นต้องทราบเนื้อหาอุปมาอย่างชัดเจนก่อน ความเยี่ยมยอดและวิเศษของ ไซอิ๋ว ที่ไม่เหมือนวรรณกรรมอื่นอยู่ที่ผู้อ่านจะต้องลืมความเป็นคนอย่างหมดสิ้น ไม่มีพระถังซัมจั๋ง ไม่มีหลี่ซิบิ๋น ไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีลิงเห้งเจีย ไม่มีหมูโป๊ยก่าย ไม่มีเงือกซัวเจ๋ง มีแต่คุณะ หรือ คำที่ยืมชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์มาเรียกเท่านั้น มิฉะนั้นความที่ไซอิ๋ว นั้นซับซ้อนนั่นเองจะปกปิดอรรถรสเสียหมด แล้วท่านผู้อ่านเองจะเป็นฝ่ายลดระดับค่าของวรรณกรรมนี้ลง 

ขณะที่อ่านนั้นเรามักจะเผลอไปจากระนาบนี้ เพราะว่าพระพุทธองค์ที่ประทับอยู่ในวัดลุยอิมยี่นั้น ก็หาใช้พระพุทธเจ้าทางกายภาพไม่ แต่กลับเป็นพุทธภาวะ และดังนั้นขันติคุณแห่งชีวิต(พระถัง) ที่อาศัยโพธิจิต(เห้งเจีย) และบารมีอื่นประกอบสนับสนุน จึงได้บรรลุถึงพุทธภาวะ สมัยใดเห้งเจียไม่นำทาง ให้โป๊ยก่าย(ศีล) นำ คือจูงม้า(วิริยะ) โป้ยก่ายจะนำเข้ารกเข้าพง เข้าถ้ำผีจนถูกกักขัง และรอให้เห้งเจีย(ปัญญา) มาช่วยปลดปล่อยดังนี้ เป็นต้น 
แม้แต่เจดีย์ หาบห่อ ต้นไม้ ภูเขา ถ้ำ ลำธาร และอาวุธวิเศษต่างๆ ก็ล้วนเป็นความหมายทางธรรมทั้งสิ้น 

และที่ยิ่งไปกว่านั้น พระสงฆ์ก็หาใด้หมายถึงพระสงฆ์ไม่ กลับหมายถึงเจตสิกธรรม ในขณะที่อ่านไซอิ๋วเป็นปริศนานี้ จำเป็นต้องทำในใจให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว แล้วท่านจะพบกับความขบขันในปริศนาธรรมขั้นลึก ความขบขันทีโพธิปัญญาจะดูหมิ่นดูแคลนศีล หรือว่าโพธิปัญญาทะเลาะกับขันติที่มันเอาแต่จะทนฝ่ายเดียว มิได้เชื่อโพธิในการฆ่ากิเลส อรรถรสในปริศนาธรรมที่ไม่มีคน ไม่มีสัตว์นี้ช่างแสนสนุก ตรงที่ได้นึกทายหรือคาดการร์ว่าปีศาจตัวนี้คือกิเลสตัวไหนหนอ และปัญญาจะผ่านปีศาจได้อย่างไรหนอ เมื่อกระทำในใจเพื่อจะอ่านไซอิ๋วเช่นนี้ จะได้ความหรรษาในธรรมสโมธานอย่างลึกซึ้ง พร้อม ๆ กับความบันเทิง

สรุปได้ว่าทุกสิ่งอยู่ในใจ ผู้ที่อ่านไซอิ๋วจะพบว่าการอ่านไซอิ๋วเป็นดุจการได้สนทนากับชีวิต ไซอิ๋ว จึงเป็นคัมภีร์ที่ลึกซึ้งเท่าๆ กับความเป็นวรรณกรรม เพราะท่านผู้แต่งได้รวบรวมเอาเนื้อหาในพระสูตรไว้หลายสิบสูตรชื่อของถ้ำปีศาจและชื่อของภูเขาและพรรณไม้รอบๆ ถ้ำจะเป็นกุญแจไขข้อธรรม น่าเสียดายว่า ไซอิ๋ว ฉบับไทยนั้นไม่คงเส้นคงวาในการแปลชื่อเท่าใดนัก

ข้าพเจ้าได้เคยเข้าใจคลาดมาหลายระดับ แม้แต่เคยเข้าใจว่า เห้งเจีย 
โป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง คือ ราคะ โทสะ โมหะ ซึ่งถ้าพิจารณานิสัยของสัตว์ทั้งสามก็คงจะใกล้เคียงมาก ครั้นต่อมาครูของข้าพเจ้าได้ชี้ขึ้นว่า ที่แท้สัตว์ทั้งสามนั้นคือ ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังล้มลุกคลุกคลานอยุ่นั่นเอง โพธิก็ยังเถื่อน ศีลก็ยังทุศีล และสมาธิก็ยังซึมกะทืออยู่ ครั้นต่อมาเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา ประชุมพร้อมกันแล้ว ถึงเขตโลกุตระ ทั้งสามตัวเริ่มเข้าร่องเข้ารอยกันได้ หากจะถือว่าทั้งสามสัตว์ คือ ราคะ โทสะ โมหะแล้ว พระถังซัมจั๋งจะอาศัยไปไซที(นิพพาน) ได้อย่างไร ดูขัดเขินกว่าที่จะลงเห็นว่าเป็น ปัญญา ศีล สมาธิ ที่ยังเป็นโลกียะอยู่ ต่อมาเมื่อได้พิจารณาถี่ถ้วน หรือว่าท่านผุ้อ่าน ไซอิ๋ว จนจบเรื่องนั่นแหละ จึงจะมีความเห็นร่วมกับข้าพเจ้าเป็นแน่


จนบัดนี้ข้าพเจ้ายังหาได้เข้าใจในปริศนาธรรม ไซอิ๋ว ได้ทุกแง่ทุกมุม อันเกิดจากอัจฉริยภาพของท่าน โหงว-เซ่ง-อึง อย่างเต็มที่ไม่ ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ยังมีส่วนลึกซึ้งที่ได้มองข้ามไปอีกมาก กระนั้นเท่าที่ทราบความหมายแล้ว ก็ยังเป็นเหตุให้รวบรวมอุตสาหะแก้อรรถไซอิ๋ว ตามกำลังสติปัญญา โดยย่อเรื่องพอเป็นเค้าแล้วเฉลย จึงขาดรสสนุกไปมาก ถ้าหากว่าท่านผู้อ่านได้อ่านต้นฉบับไซอิ๋วมาบ้างแล้ว ก็คงจะได้ประโยชน์จากการเฉลยอรรถนี้มากยิ่งขึ้น และข้าพเจ้าคงจะได้บุญกุศลบ้าง จากการพยายามพิสูจน์ตามกำลังอันน้อยนิด ว่าวรรณกรรมในระนาบนี้ ในวิธีการเขียนชนิดนี้ เป็นแก่นสารของวรรณกรรมแห่งเอเชียที่เคยรุ่งโรจน์ทางนามธรรม และได้เสื่อมคลายลงเพราะอำนาจความคลั่งไคล้ในวัตถุในปัจจุบันนี้

ทุกวันนี้เราต้องยอมรับกันว่า วรรณกรรมระดับมหากาพย์หาได้ยากนัก เพราะกวีนิพนธ์ใหม่ ๆ ล้วนถูกสร้างออกมาจากนักเขียนที่เป็นทาสอายตนะ แม้ว่าวรรณกรรมใหม่ ๆ จะเกิดมาจากสติปัญญา แต่เป็นสติปัญญาที่อยู่ในระนาบสามัญ ซึ่งยังไม่พ้นอิทธิพลของอามิส 

อาเธอร์ วัลเลย์ กวีชาวอังกฤษได้แปลและเรียบเรียงเรื่องนี้เป็นภาษาอังกฤษ และเขียนนำว่าเป็นเรื่องสนุกดังเรื่อง เดวี่ครอกเก็ต พร้อมกันนั้นเขาได้ชี้ช่องว่า ไซอิ๋วเป็นเรื่องลึกซึ้งทางจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน ชาวตะวันตกมักจะรู้จักไซอิ๋วในนาม "Monkey god" มากกว่า "ไซอิ๋วกี่" ซึ่งหมายถึง การเดินทางไปตะวันตก(Journey to the West) ซึ่งหมายถึงอินเดีย และในส่วนลึกหมายถึงพระนิพพาน 

เขมานันทะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น